“กสทช.” ย้ำไทม์ไลน์ประมูลคลื่น

ในฝั่งฟากธุรกิจ บรรดาผู้เล่นหลักในสมรภูมิธุรกิจโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรูมูฟ เอช และดีแทค ยังคงขับเคี่ยวแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือเทียบประชากรในบ้านเราจะทะลุ 100% ไปไกลแล้ว โดย ณ สิ้นปี 2559 มีจำนวนเลขหมายที่มีการเปิดใช้ 113 ล้านเลขหมาย

ขณะที่สถานะการถือครองคลื่นของผู้ให้บริการ 3 ราย แบ่งเป็น “เอดับบลิวเอ็น” (AWN) ในกลุ่มเอไอเอส มี 80 MHz เป็นคลื่น 900 (10*2 MHz ) คลื่น 1800 (15*2MHz) และ 2100MHz (15*2MHz) ส่วนกลุ่มทรู นอกจากมีคลื่น 1800/900 และ 2100MHz เท่ากับเอไอเอส แล้วยังมี 850 MHz เดิมอีก (10*2MHz) ส่วน “ดีแทค” มีถึง 140 MHz แต่ปีหน้าจะเหลือ 30 MHz เพราะสัมปทานกำลังจะหมดอายุ ซึ่งตามแผนของสำนักงาน กสทช.การันตีโดย “เลขาธิการ กสทช.-ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ระบุว่า ใน ต.ค.-พ.ย.ปีนี้จะมีหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นออกมา และคลื่นที่อยู่ในคิวเรียกคืนมาจัดสรรใหม่คือ 2600 MHz ที่ อสมท ครองอยู่ ตามด้วย1800 MHz ของดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัมปทาน คาดว่าจะจัดสรรใบอนุญาตได้ 3-4 ใบ และปี 2563 จะมีคลื่น 700 MHz

“เราเริ่มประมูลคลื่นปี 2555 จาก 2100 MHz จบที่ 44,000 กว่าล้านบาท ทั้ง 3 บริษัทชำระเงินครบแล้ว ต่อมาเป็น 1800 MHz ผู้ที่ประมูลได้ คือทรูมูฟ และ AWN รวมกัน 86,000 กว่าล้าน ทั้งคู่ชำระเงินงวดแรก พ.ย. 2558 คนละ 21,000 กว่าล้านบาท ปี 2559 ไม่ต้องจ่าย แต่ ธ.ค.ปีนี้ต้องจ่ายงวด 2 อีกหมื่นกว่าล้าน และงวดสุดท้าย ธ.ค.ปีหน้า ส่วน 900 MHZ ผลประมูลได้ราคาสูงมาก รวม 2 ไลเซนส์ 7 หมื่นกว่าล้าน เป็น AWN และทรูมูฟ เอช ซึ่งจ่ายงวดแรกมาแล้ว 8,600 กว่าล้านปีที่แล้ว และปีหน้ากับปีถัดไปจ่ายอีกรายละ 4,300 กว่าล้าน ถือว่าน้อยมาก จะไปหนักในปี 2563 งวดสุดท้าย รายละ 6 หมื่นกว่าล้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนวิตกกังวล แต่ผมอยากเรียนว่าไม่ต้องกังวล หากพิจารณาผลประกอบการแล้วพบว่าภาพรวมธุรกิจยังดีมาก แม้จะต้องจ่ายค่าคลื่นและเร่งลงทุนเรียกว่าแค่ขาดทุนกำไร”

เลขาธิการ “กสทช.” กล่าวต่อว่า หากดูงวดการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นจะพบว่าในปีนี้ ผู้ที่ประมูลคลื่นได้ไม่มีคิวต้องจ่ายค่าคลื่น จึงเป็นจังหวะที่แต่ละบริษัทจะเร่งลงทุน และเดินหน้าสร้างผลกำไรให้ได้ เช่นกันกับในปีหน้า 2561 และปีถัดไป แม้ต้องจ่ายก็ไม่มาก จะหนักในปี 2563 จึงมองว่าในปีสองปีนี้ ทั้งเอไอเอส และทรูมูฟ ต้องเร่งหาลูกค้าและขยายธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไร


“กสทช.ทำรายได้เข้ารัฐ 3.9 แสนล้านบาท ถือว่าราคาสูงมาก แต่จะไม่เป็นปัญหาเหมือนทีวีดิจิทัล เพราะการสื่อสารเป็นปัจจัยที่ 5 ก่อนประมูลมีเบอร์โทรศัพท์ 80 ล้าน เพิ่มเป็น 120 ล้านเลขหมาย เปรียบกับการมีรถวิ่งบนถนนเพิ่มขึ้นชัดเจน ยิ่งมีเทคโนโลยี “ไอโอที” ก็ยิ่งต้องใช้ความถี่เพิ่ม ต้องขยายถนน หรือจัดสรรคลื่นต่อเนื่อง”