นับหนึ่ง Digital ID สะดวก vs ละเมิดสิทธิ์

An Indian visitor gives a thumb impression to withdraw money from his bank account with his Aadhaar or Unique Identification (UID) card during a Digi Dhan Mela, held to promote digital payment, in Hyderabad on January 18, 2017. The Digi Dhan mela is a government initiative aimed at digital transformation in the country following the recent demonetization. / AFP PHOTO / Noah SEELAM

เข้าใกล้ชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ digital ID หรือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ จัดงานเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #1 “ตัวตนดิจิทัลกับสิทธิในข้อมูล เราควรไว้ใจใคร”

ภาคการเงินตื่นตัว

“ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์” ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า digital ID ในไทย เริ่มที่ภาคการเงิน มีการรวมตัวตั้ง “NDID” บริษัท เนชันแนล ดิจิทัลไอดี จำกัด เพื่อสร้างแพลตฟอร์มกลางในการยืนยันตัวบุคคลเมื่อทำธุรกรรม เพื่อลดเวลาและความยุ่งยาก

จุดเด่นของระบบคือ แสดงตัวตนได้และสามารถมาขอข้อมูลได้ถ้าเจ้าของอนุญาต หากผู้ใช้มีบัญชีธนาคารแห่งใดก็ได้ ถ้าสมัครเข้าโครงการ NDID จะสามารถเปิดบัญชีธนาคารแห่งอื่น ๆ ได้ผ่านแอปของธนาคารนั้น ๆ โดยไม่ต้องไปยืนยันตัวที่สาขา ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยเสริม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพราะจะมีหลักฐานเอาผิดชัดเจน หากแชร์ข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ

“แต่ผู้บริโภคต้องรู้จักป้องกันตัวเอง เพราะเทคโนโลยีทำให้ง่าย จนไม่ระวัง มิจฉาชีพอาจจะสวมรอยได้”

เพื่อนบ้านพร้อมแซง

ในปีนี้ NDID จะเริ่มต้นเฟสแรกในงานของสถาบันการเงิน และบริการเฉพาะกับบุคคลธรรมดา ก่อนจะขยายไปสู่เฟส 2 ที่ให้บริการกับนิติบุคคล และเฟส 3 ครอบคลุมถึงข้อมูลแรงงานต่างด้าว โดยจะต้องระดมทุนเพิ่มอีก 100-200 ล้านบาท จากที่ลงทุนแล้ว 100 ล้านบาท

“เป้าหมายต่อไปคือ ชวนภาครัฐมาใช้ เพราะถ้าไม่มีใครมาเปิดบัญชีในนี้ NDID ก็ยังปกป้องไม่ได้ ดังนั้น ถ้าภาครัฐมาร่วมจะสามารถยืนยันตัวตนตั้งแต่เกิดได้ เพราะบางหน่วยงานยังกลัวไม่ปลอดภัย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย สนใจโครงการ NDID มาก”

ไม่ใช่สะดวกแต่เพิ่มโอกาสใหม่ 

“Emrys Schoemaker” Research Director Caribou Digital สหราชอาณาจักร กล่าวว่า ตัวตนดิจิทัลช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งเงินและเวลา รวมทั้งเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ก็สามารถลดได้ เพราะสามารถตรวจสอบได้ และการแฮกก็ยิ่งยาก ทั้งสามารถเก็บบันทึกสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงมีโอกาสก่อให้เกิดบริการใหม่ ๆ

เช่น ตัวแทนที่ดูแลการติดต่อผ่านตัวตนทางดิจิทัล, ดาต้าเอ็กเชนจ์ต่อไป แต่อาจต้องสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย และต่อไปจะยิ่งง่ายและเร็ว ผู้ใช้จะไม่รอบคอบ ดังนั้น ต้องตระหนักถึงข้อนี้

“เรามีอัตลักษณ์ที่เป็นทางการ เช่น บัตรประชาชน แต่ไม่ได้บอกความเป็นตัวตน เช่น งานอดิเรก ต่อไป digital ID จะรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ดังนั้น ต้องคิดถึงผลที่จะตามมา มันเพิ่มความสะดวกแต่ก็มีความเสี่ยง”

เสี่ยงละเมิดสิทธิ 

“ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การจดทะเบียนซิมการ์ดที่บังคับให้ทุกคนไปจดทะเบียนซิมใหม่ภายในเดือนตุลาคมนี้ แม้บางคนจะเคยจดทะเบียนซิมแล้ว ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับบริการ

“เกิดเป็นข้อสงสัยของคนในพื้นที่ว่ารัฐผูกขาดการใช้ข้อมูล และทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ใช่เจ้าของข้อมูล นอกจากนี้ สิ่งที่ชาวบ้านเจอทุกวัน คือ มีด่าน มีการตรวจค้น การถ่ายภาพใบหน้าโดยไม่บอกสาเหตุ จึงเกิดเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิที่มีการเรียกข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามคือ ข้อมูลที่เคยมีเพียงพอหรือยัง และจะมีกลไกอะไรคุ้มครองการละเมิดสิทธิของภาครัฐ รวมทั้งกำหนดกรอบการใช้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น”

ในมุมมองของประชาชน พฤติการณ์ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยภาครัฐมากที่สุดคือ การถูกตรวจค้นและถ่ายรูปใบหน้าโดยไม่มีสาเหตุ และเลือกปฏิบัติ

“ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และระบบโทรคมนาคม ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า การเก็บข้อมูลต้องแค่เพียงพอให้ยืนยันตัวตน ไม่ใช่เก็บให้มากที่สุดเพื่อเฝ้าระวังหรือติดตามจนกระทบความเป็นส่วนตัว และไม่ใช่ทุกบริการที่ต้องแสดงตัวตน

“ผู้บริโภคมีทางเลือก แต่โครงสร้างไทยยังจำกัด เพราะมองแค่มุมเดียวถ้าเทียบกับต่างประเทศ จนการเก็บข้อมูลในปัจจุบันนั้นแยกไม่ออกว่าเก็บเพื่อระบุตัวตนหรือเก็บไว้แชร์ให้คนอื่น”

โปร่งใส-ตรวจสอบได้ 

“ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในมุมความเป็นส่วนตัว ความเชื่อใจเกิดจากการปฏิบัติตัว และเทคโนโลยีก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อถือ

“ข้อดีทำให้สามารถเชื่อใจคนแปลกหน้าได้มากขึ้น เช่น แกร็บ ที่มีข้อมูลรีวิว มีคนรับผิดชอบ แต่สุดท้ายไม่มีระบบหรืออะไรที่สามารถเชื่อใจหรือไว้ใจได้ 100% และในสังคมที่ระแวงกันและกัน เราจะเชื่อใจใครได้บ้างนั้น สุดท้ายขึ้นอยู่กับความโปร่งใสและคุณภาพ ถ้าสามารถตรวจสอบได้ง่าย ก็มีความโปร่งใส รวมทั้งเจ้าของข้อมูลต้องมีสิทธิที่จะตรวจสอบข้อมูล”