“ดีอี” ยุค “พุทธิพงษ์” ทันสมัย ทั่วถึง และเท่าทัน

สัมภาษณ์

เรียกว่า ไฟแรงสุด ๆ กับการทำงานวันแรก ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ของ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ประกาศชัดเจนว่า พร้อมรับฟังแนวคิดและปัญหาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานใต้สังกัด ที่ต้องสรุปส่งมาภายใน 10 วัน และเตรียมเดินสายหารือกับภาคเอกชน สมาคมต่าง ๆ ด้วย “ประชาชาติธุรกิจ” ชำแหละวิสัยทัศน์รัฐมนตรีคนใหม่

Q : สานต่อนโยบายเดิม

แน่นอนว่าจะมีการสานต่อนโยบายเดิมในหลายเรื่อง ที่จะเพิ่มคือ ทำให้ดีอีเป็นกระทรวงที่พี่น้องประชาชนเข้าถึงได้มากกว่าเดิม ต้องมีส่วนผลักดันในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น จะต้องเห็นโครงการที่จับต้องได้ มีความสะดวก มีการให้ข้อมูลจากกระทรวงให้มากขึ้นกว่าเดิม

Q : นโยบาย 3 เสาหลัก

ทุกหน่วยงานแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการนำดิจิทัลไปใช้เรื่องปากท้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเงิน เงินคริปโท แม้จะยังไม่รู้ว่าดีหรือไม่ แต่ต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเพราะเลี่ยงไม่ได้

“สังคมดิจิทัล” อาจทำเป็นแอป DE360 องศา มัดรวมแอปที่เอกชนทำแล้วเป็นประโยชน์ มาเป็นพอร์ทัลให้ประชาชนได้เข้ามาใช้

“ความมั่นคง” ดูในชั้นกฎหมายลูก ปัญหาการลิดรอนสิทธิต่าง ๆ การตั้งหน่วยงานใหม่ตาม พ.ร.บ. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายที่สำคัญ และมีแนวคิดจะตั้งศูนย์ Fake News Center ในข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชน แต่ต้องหารือก่อนว่า กระทรวงมีช่องทางทำอะไรได้บ้าง

มิติของดีอีจากนี้จะต้องเน้นที่ ทันสมัย ทั่วถึง และเท่าทัน เพราะถ้ารู้ไม่ทันหรือรู้ช้า ประชาชนจะตกเป็นเหยื่อได้ และต้องเป็นงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้

Q : ควบคุมออนไลน์มากขึ้น

ไม่ใช่จะไปปิดหรือรังแกคนที่คิดต่างหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามเสมอไป เรามีกรอบการทำงานชัดเจนว่า อะไรเป็นเรื่องยั่วยุ การให้ข้อมูลเป็นเท็จ เสียหายต่อบ้านเมือง ทำให้เสื่อมเสียกับองค์กร สถาบันอันที่เคารพของพวกเรา ในฐานะที่ผมเป็นคนไทยและมีโอกาสได้เข้ามานั่งตรงนี้ก็ควรทำ แต่ไม่มีเป้าหมายไปรังแกใคร คนที่คิดว่ามั่นใจว่าสิ่งที่พูดเป็นจริง และรับผิดชอบในคำพูด ในสิ่งที่จะโพสต์ ไม่กระทบกับความมั่นคง หรือทำให้เดือดร้อน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะข้าราชการต้องเป็นกลาง ไม่เช่นนั้นก็จะถูกฟ้องได้

Q : งานรูปธรรมที่ทำได้ทันที

สิ่งแรกที่คิดจะทำ คือ ปรับปรุงเว็บไซต์ เฟซบุ๊กของกระทรวงให้ทันสมัย ทั้งในแง่ข้อมูล เพิ่มช่องทางร้องเรียน สอบถามข้อมูลทางออนไลน์ สร้างอินเตอร์แอ็กทีฟกับผู้ใช้งานและต้องผลักดันให้เกิดซิงเกิลวินโดว์ให้ได้เร็วที่สุด เพราะแต่ละหน่วยงานมีแพลตฟอร์ม มีการเก็บข้อมูลแตกต่างกัน ถ้าทำให้เชื่อมต่อกันได้อาจจะเริ่มทีละส่วน อย่างกระทรวงพาณิชย์ BOI ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ และมักใช้เอกสารชุดเดียวกัน หรือการผลักดันเนชั่นแนลดิจิทัลไอดี ที่จะช่วยลดความซ้ำซ้อน

ที่สำคัญ จะไปบิ๊กดาต้าไม่ได้เลย ถ้าระบบข้อมูลภาครัฐยังไม่เชื่อมโยงกัน ตั้งใจไว้หลายเรื่อง แต่จะคิดเอง ทำเองไม่ได้ ต้องฟังเสียงทุกหน่วยงาน

Q : กระทรวงปัญหาภายในเยอะ

ไม่ว่าที่ไหนก็มีเรื่องให้แก้ เป็นความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการให้ได้อย่างรอบคอบ ไม่รังแกข้าราชการ อยู่บนผลประโยชน์ของกระทรวง

Q : ควบรวม “ทีโอที-แคท”

ได้ฟังที่ สคร.ชี้แจงมาแล้ว ซึ่งมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดคุยให้เสร็จ อย่างทรัพย์สิน สัญญาเก่า บุคลากร แม้แต่แผนการบริหารไปข้างหน้า แต่แนวทางก็เดินมาไกลพอสมควรแล้ว ก็ขอไปทบทวนอำนาจของรัฐมนตรีว่า จะยังดึงกลับมาดูในรายละเอียดได้อีกหรือไม่ แต่ถ้าดึงกลับไม่ได้ก็ต้องเดินไปตามกระบวนการต่อ

Q : ผลักดัน 5G ร่วมกับ กสทช.

จริง ๆ 5G การเทสต์ควรจะมีหน่วยงานเดียว แต่เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนบ่อย กสทช.ก็หวังดี เข้ามาช่วยก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้จะซับซ้อนไปบ้าง อนาคตควรจะชัดเจน คนที่เป็นผู้คุมนโยบาย

ก็ดูนโยบาย กำกับดูแลก็กำกับไป และถ้ามีโอกาส ผมก็จะไปหารือกับ กสทช.

Q : จะมีปัญหา “แย่ง-เกี่ยง” งานกัน

กสทช.ก็เป็นหน่วยงานรัฐที่ทำควบคู่กัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน การทำงานร่วมกันได้ก็เป็นเรื่องดี เพื่อประชาชนได้ประโยชน์ในราคาที่ไม่แพงขึ้น

Q : คงเป้า 5G ปี 2563 


5G เป็นสิ่งที่คนตั้งตารอ มองว่าเร็วช้าไม่ใช่สาระ เท่ากับการเป็น 5G ที่มีคุณภาพแบบ 5G จริง ๆ ครอบคลุมทั่วถึง ทั้งเอกชนผู้ให้บริการและประชาชนต้องพร้อม ซึ่งจะมีช้าไป 1-2 ปี ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่นอย่างมีนัย เพราะยังมีปัจจัยอื่นอย่าง สิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านให้ได้มากกว่าและน่าสนใจกว่า