รับมือ”ดิจิทัล”เปลี่ยนโลก

เปิดประเดิม “ภารกิจคิดเผื่อ” กระจายความรู้สู่ภูมิภาคครั้งแรกที่ “เชียงใหม่” กับงาน AIS ACADEMY FOR THAIS : TO THE REGION เปิดเวทีให้วิทยากรระดับโลกมาแชร์ประสบการณ์ให้องค์กรได้เตรียมรับมือกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง

โฟกัสคน-เทคโนโลยี ปรับ “วัฒนธรรม”

ยักษ์ใหญ่อย่าง “กูเกิล” ส่ง “Yuval Dvir” Global Head of Scaled Partnership, Google Cloud มาแชร์มุมมองโดยเชื่อมโยงด้านชีววิทยาเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อให้เข้าใจกลไกของ “สมอง” และการรับรู้ต่าง ๆ เพราะการรับมือกับ “ดิสรัปชั่น” คือ ความท้าทายขององค์กรที่ต้องผสานความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันในการแก้ปัญหาสิ่งต่าง ๆ

“เมื่อพูดถึงการพลิกโฉมทางดิจิทัล คนมักจะนึกถึงเรื่องของเทคโนโลยี แต่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเปลี่ยนองค์กรไม่ได้ ยังต้องมีทั้งคน ธุรกิจ และโครงสร้างองค์กร ถ้าทำแค่จุดใดจุดหนึ่งจะพลิกโฉมทางธุรกิจไม่ได้หรือต้องใช้เวลานานและยากลำบาก”

“คน” จุดเริ่มต้นทุกสิ่ง

การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับ “คน” ด้วยการทำให้ทีมเกิดความร่วมมือ ซึ่งหมายถึงต้อง “รู้จัก” คนในทีมอย่างดี รวมถึงมีตัวชี้วัดที่ดีด้วย

“การเมืองภายในองค์กรเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ไม่ควรเป็นเรื่องหลัก แม้จะดึงเรื่องการเมืองออกไม่ได้ แต่วางแผนจัดระเบียบได้”

“คน” เป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายทุกอย่าง ถ้าเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนการทำงานของคนได้เมื่อไร ก็จะเกิดความกว้างหน้าของนวัตกรรมต่าง ๆ ได้

ความรู้มีวิวัฒนาการ

ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ “learn, unlearn and relearn” พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และต้องพร้อมจะลืมแล้วเริ่มเรียนสิ่งใหม่ได้เสมอ เหมือนเด็กทารกที่เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากโลกใหม่ ๆ ลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้สมองเกิดประสิทธิภาพและโฟกัสในสิ่งที่สำคัญ

“ต้องตระหนักว่า เรายังไม่ได้เก่ง ไม่ได้รู้อะไรมาก ต้องถ่อมตัว เพื่อเรียนรู้ ความรู้มีวิวัฒนาการตลอด”

และต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีจะเก่งได้เท่ากับที่คนนำไปใช้ได้ และคนจะเก่งได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่ที่วัฒนธรรมที่อนุญาตให้เก่งได้ และวัฒนธรรมจะเปิดกว้างแค่ไหนขึ้นอยู่กับผู้นำที่จะสร้างวัฒนธรรมที่ดีได้ ฉะนั้นองค์กรต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี คน วัฒนธรรม และผู้นe

ถูกท้าทายตลอดเวลา

“ทุกวันนี้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย มีทั้งเอไอ แมชีนเลิร์นนิ่ง มาทำงานแทนมนุษย์ ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ อาทิ จาก blockbuster สู่ Netflix แล้วยังมีคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาตลอด ฉะนั้นแม้ว่าจะเบอร์หนึ่งแล้วก็จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาท้าทายอยู่ตลอดเวลา”

“หุ่นยนต์ชนะหมากโกะได้ เพราะมองเห็นแพตเทิร์นการวางหมากที่คนไม่เคยทำมาก่อน”

ฉะนั้น การสร้างธุรกิจจำเป็นต้องมองไปสู่สิ่งใหม่ ๆ และทำให้แตกต่างจากคนอื่นด้วยการมีนวัตกรรม โดยเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เคล็ดลับองค์กรนวัตกรรม

“เคล็ดลับที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมมากขึ้น คือ ต้องรู้จักวางแผน และแผนต้องเปลี่ยนได้เสมอ ต้องย้อนกลับไปดูผลลัพธ์ และเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ”

ที่สำคัญ คือ ต้องรู้จักการนำ “ข้อมูล” มาใช้ประโยชน์ และการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ การได้ความเห็นจากผู้ใช้จริงย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

“Skype เก็บข้อมูลไว้มากมาย แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใด ๆ เลย จนกระทั่งไมโครซอฟท์ได้เข้าไปซื้อกิจการและนำข้อมูลมาพัฒนาโครงการมากมาย มีการเทสต์จากผู้ใช้งานจริง ทำให้ฟังก์ชั่นการใช้งานต่าง ๆ ดีขึ้นมาก”

ทั้งการพัฒนาสิ่งใหม่ สามารถเริ่มได้จาก “สิ่งเล็ก ๆ” แต่ต้องเน้นในส่วนสำคัญจริง ๆ และเข้าใจมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง

ไอเดียใหญ่สำคัญที่ลงมือทำ 

การสร้างนวัตกรรมต้องมีจุดสมดุลระหว่างศาสตร์และศิลป์ โดยการทำให้ “ง่าย” และทำงานได้จริง ไม่เช่นนั้น สิ่งที่ต้องการให้ยิ่งใหญ่ก็จะไม่มีความหมาย

“คนเรามักจะจริงใจกับสิ่งที่ทำมากกว่าพูด ฉะนั้น การกระทำเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าคำพูดของเรา”

ต่อยอด “ข้อมูล” เสริมแกร่งธุรกิจ

จัดเต็มตัวอย่าง เป็นทางลัดพัฒนา โดย “กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์” รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจคลาวด์และโซลูชั่น บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ย้ำว่า ดิจิทัลดิสรัปชั่น กลายเป็น “เรื่องปกติ” ในยุคนี้
แต่ต้องรับมือ “อย่างเข้าใจ” โดยเฉพาะการนำ “ข้อมูล” ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่า “ผู้บริหารชั้นนำมองว่า บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่ลุกขึ้นมานำเทคโนโลยีมาใช้ ปรับตัวเองได้เร็ว มีข้อมูล มีกำลังเงิน มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เร็ว คือคู่แข่งที่น่ากลัว”

ทั้งยังพบว่า องค์กรที่นำข้อมูลและเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า วางกลยุทธ์โดยใช้ข้อมูล สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมทำสิ่งใหม่ ๆ จะมีผลประกอบการเหนือกว่าคู่แข่ง และมีภาพลักษณ์องค์กรที่ดีกว่า

Dancing with Disruption

องค์กรชั้นนำกำลังมุ่งไป เรื่องแรก คือ dancing with disruption สู้กับคู่แข่งโดยใช้เทคโนโลยี สอง คือ trust in the journey สร้างพันธมิตร สร้างความเชื่อมั่นที่จะแชร์ข้อมูลระหว่างกัน สาม คือ orchestrating the future เตรียมรับอนาคต และสุดท้าย innovation in motion คือ จะเป็นเบอร์หนึ่งไม่ได้ตลอด ถ้ายังอยู่กับที่ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้บุคลากรคิด-ทำสิ่งใหม่ ๆ ล้มเหลวก็ไม่หยุด

ส่วนวิธีรับมือทำได้ทั้งการเพิ่มความเร็วด้วยการ “ซื้อ” ไม่ว่าจะเป็นซื้อนวัตกรรมหรือซื้อสตาร์ตอัพที่น่าสนใจมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท อาทิ Walmart ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ซื้อกิจการของ Jet ที่โดดเด่นด้านอีคอมเมิร์ซ

“Jet เป็นบริษัทเล็กแต่มาแรง มีนโยบายที่ต่อกรกับรายใหญ่อย่างอเมซอนได้ Walmart จึงใช้เงิน 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าไปซื้อ และมีการวางกลยุทธ์ร่วมกัน จนทำให้ยอดขายโตขึ้น 40% ใน 1 ปีจากนั้น และยังโตอีก 40% ในปีถัดไป”

“ซื้อเทคโนโลยี” มาเสริมศักยภาพ อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่นำ AI มาให้คำแนะนำแก่แพทย์เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรักษามะเร็ง

ทุกวันนี้ถ้าจะให้แพทย์อ่านงานวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ทัน ต้องใช้เวลาถึงสัปดาห์ละ 165 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่เอไอของไอบีเอ็มอย่างวัตสันช่วยอ่านและให้คำแนะนำเพื่อให้แพทย์ตัดสินใจได้ว่า เคสแบบไหนจะเอาอะไรมารักษา” 

Trust in the Journey 

DHL ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีถึง 6,000 โครงการที่ให้ลูกค้าหรือคู่ค้าแชร์ข้อมูลเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ อาทิ การลดต้นทุนการส่งซ้ำด้วยการส่งของให้ถึงรถของลูกค้า โดยมีระบบรหัสผ่านแบบครั้งเดียว (OTP) ในการเปิดท้ายกระโปรงรถเพื่อส่งของได้เลย ซึ่งต้องเกิดจากความไว้ใจและมั่นใจ

Orchestrating the Future

ธุรกิจเก่าแก่อย่างโกลบอลโลจิสติกส์ มีค่าใช้จ่ายถึง 20% ที่เกิดจากกระดาษ เพราะในกระบวนการต้องมีกว่า 30 องค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องและใช้เอกสารจำนวนมาก

ไอบีเอ็มจึงได้ลงทุนร่วมกัน สร้างระบบโกลบอลบล็อกเชนสำหรับโกลบอลเทรด ให้ทั้งชิปปิ้ง ศุลกากร ท่าเรือ ได้เห็นข้อมูลอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งมีศุลกากร 14 ประเทศเข้าร่วมแล้ว

Innovation in Motion

นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้พนักงานแต่ละคนเป็นเหมือนเซ็นเซอร์ที่บอกได้ว่า ขณะนี้ลูกค้าต้องการอะไร แบรนด์ Haier สร้างทีมพัฒนาสินค้าย่อย ๆ ขึ้นมา โดยรวมทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะฝ่ายขาย วิศวกร ฝ่ายผลิตมาอยู่ในทีม จนสามารถสร้างสินค้าใหม่ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าจริง ๆ อาทิ ตู้เย็น 3 ประตูที่ไม่ถึง 3 ปีมียอดขาย 5 หมื่นล้านบาท เป็นเพราะผู้บริหารยอมให้พนักงานได้ทดลองของใหม่ ผิดพลาดก็ไม่ว่ากัน

“ชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวว่า ไม่ใช่สปีชี่ที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุดถึงจะอยู่รอด แต่เป็นสปีชี่ที่ปรับเปลี่ยนตัวได้เร็วถึงอยู่รอด”