จังหวะก้าวไม่ธรรมดา “เอเซอร์-บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” จุดพลุ “อีสปอร์ต”

ไม่ได้มาเล่น ๆ ทั้ง “เอเซอร์ และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” เพื่อปลุกปั้นแจ้งเกิดกีฬาอีสปอร์ตในบ้านเรา รายแรกขยายไลน์สินค้าแตกแบรนด์ใหม่ “Predator” บุกตลาดเกมมิ่ง ผ่านมา 2 ปีกว่า “นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด ถึงกับใช้คำว่า “เหนือความคาดหมาย” 

“ตอนนั้นคิดว่าจะมีส่วนแบ่งสัก 5% และเพิ่มเป็น 15% ใน 5 ปี ปรากฏว่าแค่ 2 ปี มีแชร์ถึง 25% ของโน้ตบุ๊ก เกมใหม่ที่ออกมามักต้องการเครื่องที่มีสเป็กสูงขึ้นทำให้คนต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ เป็นการเกื้อหนุนกันระหว่างฮาร์ดแวร์และเกม”

ในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า ไทยมีผู้เล่นเกม 18.3 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายในตลาดเกม 19,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.1% จากปี 2560 มีผู้ชมการแข่งขันกว่า 2.6 ล้านราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 30% ในระหว่างปี 2560-2564

“นิธิพัทธ์” บอกว่า ตลาดเกมมิ่งยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง แต่สิ่งที่อยากให้เกิดคือการมองว่า “อีสปอร์ต” เป็นกีฬา ไม่ใช่มีแต่ภาพของเด็กติดเกม

ล่าสุดร่วมกับ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต” ในการเปิดสนามแข่งขันอีสปอร์ตครบวงจรแห่งแรกในภาคอีสาน “PREDATOR ARENA” โดยสนับสนุน Predator Gaming Set ประกอบด้วยเกมมิ่งเดสก์ทอปสเป็กสูง เป็นการสร้างโอกาสและต่อยอดอีโคซิสเต็ม สร้างงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจกีฬาอีสปอร์ต

“เราเห็นความพร้อมและตั้งใจผลักดันวงการกีฬาอีสปอร์ตของบุรีรัมย์ยูไนเต็ด จึงเข้ามาสนับสนุนบุรีรัมย์ฯเพื่อสร้างมาตรฐานให้วงการอีสปอร์ต และเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนสปอร์ตซิตี้”

ด้าน “เนวิน ชิดชอบ” ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กล่าวว่า เชื่อว่ากีฬาอีสปอร์ตเป็นกีฬาซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่มาก ในไทยใหญ่กว่าฟุตบอลด้วยซ้ำไป หากสร้างทีมนักกีฬาอีสปอร์ตที่เป็นที่นิยมได้ จะสามารถสร้างรายได้ตามมา ทั้งจากการขายของที่ระลึกและสปอนเซอร์ แต่ตนไม่ได้มองที่รายได้เป็นตัวตั้ง เพราะการลงทุน ถ้าคิดว่าต้องมีรายได้ก่อนค่อยทำ ไม่มีทางสำเร็จ

เราตัดสินใจทำ ยอมมีค่าใช้จ่ายปีหนึ่งหลายสิบล้าน และอาจต้องลงทุนไปอีก 4-5 ปีจนกว่าจะเบรกอีเวนต์ตัวมันเอง ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็จะกระตุ้นวงการอีสปอร์ตของไทยให้เติบโตขึ้นได้”

และการเปิด Predator Arena ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอีสปอร์ต โดยตั้งเป้าให้เป็นสนามจัดการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคครบ

“ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะเกิดขึ้นเมื่อเซตระบบ eSport Academy ขึ้นมา เพื่อสร้างเด็กไทยให้เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตระดับโลก เป้าหมายคือใน 5 ปีต้องไปถึงระดับโลก อย่างปีนี้ให้นโยบายไปว่านักกีฬาอีสปอร์ตต้องเข้ารอบให้ลึกกว่านี้ วิธีเดียวที่จะทำได้คือเอาเด็กที่มีประสบการณ์ระดับโลกเข้ามาในทีม ตั้งเป้าดึงตัวแชมป์โลกหรืออย่างน้อยอดีตแชมป์โลกมาอยู่กับเรา หามือหนึ่งมาเทรนเด็กไทยให้ไประดับโลก”

“ลุงเน” ของแฟนบุรีรัมย์ยูไนเต็ดบอกว่า กีฬาอีสปอร์ตจะเข้ามาเสริมความเป็น “เมืองกีฬาของบุรีรัมย์” ให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความถี่การจัดกิจกรรมแข่งได้ เริ่มจากเดือนละครั้งแล้วพัฒนาไปถึงทุกสัปดาห์ได้

“ถ้าไม่มีอีเวนต์ ไม่มีทัวร์นาเมนต์ โอกาสได้ช้างเผือกที่จะพัฒนาคนจะไม่มี ในไทยมีทีมอีสปอร์ตเยอะมากแต่ไม่มีอารีน่ามีสเตเดี้ยมของตนเอง ที่ตัดสินใจทำตรงนี้ก็เพื่อให้ทุกอย่างเสถียร อยู่ในมาตรฐานโลก ต่อไปจะเป็นเรื่องการสร้างความเชี่ยวชาญของนักกีฬา รวมถึงเด็กอะคาเดมีที่จะสร้างขึ้นมา”

เขาย้ำว่า โลกของอีสปอร์ตเป็นโลกของคนเจนใหม่ คนรุ่นใหม่มีมหาศาลมากที่สนใจและใส่ใจ ถ้าภาครัฐใส่ใจกับเรื่องนี้และวางกฎกติกาให้ดี เชื่อว่าจะโตกว่ากีฬาทุกประเภทในไทยด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นธุรกิจของคนรุ่นใหม่ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อีสปอร์ต” และอยู่ในความรับผิดชอบของ “ไชยชนก ชิดชอบ” ลูกชายคนโต

“ลูกผมเล่นเกม ผมด่าลูกผม และในที่สุดลูกก็สอนผมว่าโลกของอีสปอร์ตคืออะไร และเราเปิดใจรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก เมื่อไปดูลึก ๆ จริง ๆ ต้องยอมรับว่าคือกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจำนวนมหาศาล และเป็นกีฬาที่ไม่มีพรมแดน” 

“ไชยชนก” บอกว่า ในครั้งแรกที่ไปขายโปรเจ็กต์ “อีสปอร์ต” กับ “พ่อ” ได้รับการปฏิเสธจึงไปปรึกษาทีมผู้บริหาร และทำการบ้านอย่างหนัก เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรม

อีสปอร์ตให้พ่อพิจารณาอีกครั้ง เมื่อเห็นข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ประกอบกับเทรนด์ที่กำลังมาจึงได้รับไฟเขียวให้ทำ

“แม้จะไม่เข้าใจเกม แต่พอได้เห็นตัวเลขอะไรต่าง ๆ เห็นเทรนด์ เห็นดาต้าพ่อก็คิดว่าเป็นธุรกิจที่ไปได้เลยให้ทำ พอได้เริ่มทำมาก็เห็นการเติบโต แม้จะยังไม่ได้อย่างที่เราคาดไว้ เป้าหมายเรายังสูงกว่านี้ อยากทำให้ดีกว่านี้ แต่ถือว่าเป็นฟีดแบ็กที่ค่อนข้างพอใจ มีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาและทำต่อไป”