“ฟินโนมีนา” ที่เดียวครบ ความรู้-จัดพอร์ต-ลงทุนจริง

เป็นหนึ่งในฟินเทคดาวรุ่ง ที่มวลชนเริ่มคุ้นเคยในฐานะแหล่งความรู้ด้านการเงินแบบจัดเต็ม สำหรับ FINNOMENA “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “เจษฎา สุขทิศ” ซีอีโอและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ถึงทิศทางในอนาคต

Q : จุดเริ่มต้นของฟินโนมีนา

ปัญหาบ้านเรา คือ การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ผลวิจัยพบว่า อีก 20 ปี ผู้สูงวัย 20 ล้านคนในไทยจะมี 15 ล้านคนที่มีเงินไม่พอใช้ ทั้งวัยแรงงานยังมีแค่ 12% เท่านั้นที่เรียนจบปริญญาตรี เพราะไม่มีเงินค่าเทอม ซึ่งการส่งลูกตั้งแต่เกิดจนเรียนจบ แบบถูกสุดคือหลักล้าน แบบแพงสุดพุ่งไปถึง 50 ล้านบาท

แต่ก็มีอีกงานวิจัยซึ่งเป็นสาเหตุให้ตั้งฟินโนมีนา ที่พบว่า แค่เพียงลงทุนตามหลักวิชาการ ผลตอบแทนแค่ 7-8% ต่อปี จะทำให้ผู้สูงวัย 10 ล้านคนดูแลตัวเองได้ และถ้าวางแผนการเงินดี ๆ ตั้งแต่วันนี้ จะใช้เงินไม่ถึงครึ่งในการส่งลูกเรียนจบ

ฟินโนมีนาจึงตั้งขึ้นเพื่อทำให้คนไทยมาลงทุนให้มากขึ้น เพื่อให้ส่งลูกให้เรียนจบได้ เกษียณแล้วยังมีเงินใช้ โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

Q : ทิศทางในการพัฒนา

บริการหลักของเรามี 3 ส่วน “knowledge” ให้เข้าถึงคนในวงกว้างด้วยความรู้ “จัดพอร์ต” ซึ่งมุ่งไปสู่ crowdsourcing เพราะตอนนี้ คนทำอะไรสักอย่าง เปลี่ยนจากตัดสินใจเอง เป็นการให้ crowd หรือฝูงชนร่วมตัดสินใจ จึงเกิด GURUPORT ตามที่ผู้ใช้อยากให้กูรูผู้เชี่ยวชาญมาจัดพอร์ตการลงทุนให้

สุดท้ายคือ fund supermart หรือเทรดดิ้งแพลตฟอร์ม อำนวยความสะดวกจากเดิมต้องวิ่งไปเปิดบัญชีทีละ บล. แต่ถ้าเปิดกับฟินโนมีนาที่เดียวสามารถเทรดได้เป็นสิบ บล. และกำลังพัฒนาระบบ e-KYC ถ้าเสร็จก็รับประกันได้เลยว่า ไม่เกิน 1 ชั่วโมง พร้อมเทรดได้เลย ทิศทางจากนี้ก็ยังมุ่ง 3 แกนหลัก คือ ความรู้ จัดพอร์ต ลงทุนจริง

Q : เป้าหมายสิ้นปี

อยากให้สิ้นปีมีผู้มาสร้างแผนการลงทุนกับ GURUPORT หมื่นแผน แต่จริง ๆ การทำงานของฟินโนมีนาจะไม่ใช่ตั้งเป้าที่จำนวนคนต้องเท่านั้นเท่านี้ แต่ต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลง

จุดประกายให้คนไทยเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการและดูแลนักลงทุนเป็นหลัก เพราะทุกอย่างจะสะดวกมากขึ้น อ่านรีวิวและกดลงทุนได้ทันที และแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นจะทำให้กูรูแต่ละคนสื่อสารกับนักลงทุนได้เป็นหมื่นเป็นแสนคน เข้าถึงคนในวงกว้างได้ ต่างจากแบบเดิม ๆ

Q : สตาร์ตอัพต้องสเกลก้าวกระโดด

สตาร์ตอัพคือการเริ่มทำในสิ่งใหม่ จึงไม่สามารถรู้หรอกว่าจะทำยอดได้เท่าไร แต่สิ่งสำคัญคือการให้ได้คุณค่าไปถึงคนกลุ่มเป้าหมายได้แค่ไหน นี่คือแก่นของการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ซึ่งสิ่งที่ฟินโนมีนาทำเริ่มจะจุดติดแล้ว ใน 1 สัปดาห์มีผู้เห็นบริการต่าง ๆ ของฟินโนมีนากว่า 1 ล้านคน มีมูลค่าการลงทุนผ่านช่องทางของฟินโนมีนากว่า 7 พันล้านบาทแล้ว และกำลังจะมีความร่วมมือกับ LINE ทำให้ลงทุนได้ง่ายผ่าน LINE ซึ่งจะเป็นอีกจุดเปลี่ยน ที่ใน 4 ปีแรกของเรายังอาจจะอยู่ในแค่กลุ่มมนุษย์เงินเดือน แต่ถ้าร่วมมือกับ LINE เต็มตัว น่าจะกระจายลงไปถึงกลุ่มอื่น ๆ ได้มากขึ้น

Q : อุปสรรค-ความท้าทาย

financial literacy คือ ความรู้ทางด้านการเงิน เป็นปัญหาและความท้าทายของบ้านเรา เพราะยังมีระดับความรู้ความเข้าใจและการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด การลงทุนในมุมมองของคนไทย คือ เอาเงินฝากแบงก์และซื้อหวยเดือนละ 2 งวด

Q : เริ่มมีคู่แข่ง

เร็ว ๆ นี้น่าจะมีแน่นอน เริ่มเห็นต่างชาติหลายรายสนใจจะเข้ามาในตลาดไทย การจะแข่งขันได้จะต้องมีจุดที่ได้เปรียบชนิดที่คนอื่นทำแบบเราไม่ได้ ซึ่งฟินโนมีนามี ความเชื่อใจของผู้ใช้ที่สั่งสมมานาน กูรูแต่ละคนไม่ได้เพิ่งเกิด แต่อยู่ในวงการมาเป็นสามสิบยี่สิบปี มีฐานความเชื่อใจไว้วางใจมานาน และมีอีโคซิสเต็มครบ ไม่ใช่มีแค่ผลิตภัณฑ์ แต่เราลงไปเริ่มให้ตั้งแต่คุณยังลงทุนไม่เป็น ก็ให้ความรู้ พอจะเริ่มลงทุนก็มีคนมาช่วยจัดพอร์ตให้ แล้วพอจะลงทุนจริงก็มีบริษัทลูก ซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน กลายเป็นว่าประสบการณ์ลูกค้าทุกอย่างเกี่ยวกับการลงทุนจบในที่เดียว

Q : จะดิสรัปต์ บล.

เน้นเป็นพันธมิตรมากกว่า ไม่ได้คิดจะพัฒนาตัวเองเป็น บล. (บริษัทหลักทรัพย์) แต่จะเป็นเครื่องมือที่ให้ บล.เข้าถึงผู้ใช้กลุ่มใหม่ ๆ เพราะถึงแม้ว่าทุนจดทะเบียนของเราพร้อมจะตั้งเป็น บล.ได้ แต่ต้องการคงความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ถ้าเราเป็น บล.ฟินโนมีนาเมื่อไร ก็จะแนะนำให้ลงทุนแต่เฉพาะกองทุนของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ยังมีกองทุนดี ๆ ของ บล.อื่น ๆ เยอะแยะ ซึ่งนี่คือข้อดีที่

นักลงทุนจะได้เมื่อใช้ฟินโนมีนา และจุดที่แตกต่างมาก ๆ คือ ให้ value กับผู้ใช้ ตั้งแต่ยังไม่เป็นลูกค้า คือให้ความรู้ไปก่อนเลยฟรี ๆ เมื่อรู้สึกแฮปปี้ค่อยมาลงทุน ซึ่งจริง ๆ ไม่ต้องใช้เงินเป็นหลักหมื่นหลักพัน การลงทุนบางอย่างใช้แค่หลักร้อยบาทก็ได้

นี่คือการทำให้เข้าถึงคนได้จำนวนมาก ๆ แล้วเมื่อถึงวันหนึ่งแล้วค่อย ๆ สร้างโมเดลธุรกิจ แล้วทำให้เขากลับมาเป็นลูกค้า