“ดาต้า” ขุมทรัพย์ธุรกิจ เล็ก-ใหญ่ ไม่สำคัญเท่า “ใช้เป็น”

เพราะ “กรุงเทพฯ” ไม่ใช่ประเทศไทย และการเติบโตคนเดียวไม่ยั่งยืน คือที่มาของกิจกรรม AIS ACADEMY FOR THAIS TO THE REGION ซึ่ง “กานติมา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้ย้ำบนเวที

“เชียงใหม่” พื้นที่เปิดประเดิมของโครงการนี้โดยได้ย้อนถึงที่มาของ “AIS ACADEMY” ว่า เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีจากวิสัยทัศน์ที่ต้องการทรานส์ฟอร์เมชั่นตัวเองในยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมเปลี่ยนไป จึงมุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้คนในองค์กรด้วยความรู้ และเริ่มมองว่า น่าจะเป็นประโยชน์หากช่วยให้ “คนไทย”

แข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะการทำให้สังคมไทยเข้มแข็งและแข็งแรงจึงจะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงเกิด “ภารกิจคิดเผื่อ” นำสิ่งที่ AIS ทำหลายอย่างในองค์กร และมาขยายองค์ความรู้สู่ประชาชน

“เล็ก-ใหญ่” ไม่สำคัญเท่าใช้เป็น 

ขณะที่ “ดร.กวินพงศ์ ฉัตรานนท์” หัวหน้าแผนกงานบริหารข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล big data เอไอเอส ได้ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ที่ “ลูกค้ามีดีมานด์ต่างกัน” และข้อมูลจะทำให้เข้าใจลูกค้า

“ผู้บริโภคยุคนี้ไม่สามารถแค่เอาลิซ่า แบล็กพิงก์ มาแล้วจะชนะทุกค่าย แต่ต้องเข้าใจความต้องการลูกค้าเป็นรายคน ดังนั้น การนำดาต้ามาใช้จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมาก สิ่งที่เอไอเอสทำคือเสริมทัพให้กับคนรุ่นใหม่ พนักงานใหม่ให้เข้าใจเทคโนโลยี ผลักดันให้เติบโต และพัฒนาคนเก่าให้สามารถใช้เทคโนโลยีและเก่งขึ้นได้ รวมถึงมีพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยให้ก้าวกระโดดได้เร็วขึ้น” 

แต่การจะนำข้อมูลมาใช้ นอกจาก “ข้อมูล” ต้องพร้อมแล้วยังต้องตรงเวลาและมีความถูกต้อง ฉะนั้น ความสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบต้นทางถึงปลายทางเป็นเรื่องสำคัญมาก

“ดาต้าไม่จำเป็นต้องเล็กหรือใหญ่ แต่ต้องดึงออกมาใช้ให้เป็น”

ศาสตร์-ศิลป์-ใส่ใจ

ฟาก “อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม ย้ำว่า “ข้อมูล” เป็นเรื่องสำคัญมากในยุคนี้ หากต้องการจะประสบความสำเร็จ เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ต้องรู้พัฒนาการของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค สังคมโลก เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงและมองเห็นอนาคต

โดย 5 ข้อมูลที่สำคัญคือ 1.ลูกค้า-อยากรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร 2.ยอดขาย-ขายดี จากอะไร ยอดขายตกเพราะอะไร 3.สินค้า-ควรทำเหมือนเดิมหรือควรปรับเปลี่ยนแก้ไข คุณภาพดีหรือยัง 4.กระบวนการการผลิตและบริการ เช่น ผลิตสินค้าไม่ทัน หรือส่งสินค้าไม่ทัน 5.งบฯกำไรขาดทุน-ซึ่งยุคใหม่ต้องรู้ตัวเลขรายวัน จะใช้ข้อมูลเก่าแบบ 1 ปี หรือ 6 เดือนไม่ได้แล้ว

5 ปัญหาของธุรกิจตัวเอง โดยต้องมีข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์และตั้งสมมุติฐานของปัญหา เพื่อหาคำตอบและนำกลับไปพิสูจน์อีกครั้ง

ขณะที่ในการทำธุรกิจยุคนี้ เจ้าของธุรกิจต้องเปิดกว้าง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงและความผิดพลาด เพื่อให้คนในองค์กรได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ

“เป็นศาสตร์และศิลป์ คือต้องใส่ใจธุรกิจ เมื่อใส่ใจก็จะรู้ว่าควรจำข้อมูลอะไร เอาไปใช้อย่างไร เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ก่อน เพราะถ้าทำใหญ่มันยาก และอย่าคิดว่าคนเก่าในองค์กรจะทำไม่ได้”

ไม่มีดาต้า = ตาบอด

“นครินทร์ วนกิจไพบูลย์” บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว The Standard กล่าวว่า ยุคนี้ดาต้าเป็นขุมทรัพย์ ใครไม่มีดาต้าเหมือนคนตาบอด เพราะจะไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญและนำองค์กรไปในทิศทางใหม่ ๆ ที่ชัดเจนได้

“ดาต้าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่คือเรื่องบ้าน ๆ ที่จะมีประโยชน์จากชีวิต เช่น สามีชอบอะไร จะซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด มันคือเรื่องเบสิกที่ถูกแปลงเป็นตัวเลขที่ชัดเจน คุณต้องเริ่มเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง และอย่ากลัวความล้มเหลว ต้องลอง เพราะดาต้าจะไม่มีประโยชน์ ถ้าคุณไม่รู้จะทำอะไรจากดาต้านั้น”

โดยเริ่มจากต้องรู้ก่อนว่าจะเอาข้อมูลมาใช้ทำอะไร แล้วเริ่มเก็บอย่างถูกต้องถูกวิธีเพื่อรู้จักลูกค้าและพนักงานในองค์กรต้องเข้าถึงได้เพื่อให้สามารถตอบสนองลูกค้า แต่เมื่อมีการเปรียบเทียบวิเคราะห์ทดลองแล้ว ต้องเข้าใจว่าในอนาคตชุดข้อมูลที่เคยค้นพบก็อาจจะเปลี่ยนไปได้

สำคัญคือ ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์และรู้ว่าจะเอาดาต้าไปทำอะไร ตัดสินใจโดยใช้ดาต้าเป็นตัวนำ จะเห็นว่า ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่เกี่ยวกับ “คน”

เปิดใจ “คิด-ทดลอง” สิ่งใหม่

“สาโรจน์ ปุญญพัฒนกุล” ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบสถาปัตยกรรม cloud, Amazon Web Services ย้ำเช่นกันว่า “ข้อมูล” คือหัวใจ ซึ่ง Amazon ได้ใช้เพื่อดูแลลูกค้าและพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

“ความพอใจของลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ อย่าคิดว่าเสนอบริการให้ก็เพียงพอแล้ว ต้องขยับองค์กรตลอดเวลา เพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเราตลอดเวลา”

ฉะนั้น “องค์กร” ต้องการความตื่นตัวตลอดเวลา ที่จะ “คิด-ทดลอง” สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมเปิดใจไปสู่โมเดลใหม่ ๆ ทิศทางใหม่ ๆ แต่ต้องมีการวัดผล

“การตื่นตัว การได้ลองทำ ถ้าทำแล้วได้ธุรกิจใหม่ ก็เดินไปต่อ แต่ถ้าผิดพลาดก็ไม่เสียหายอะไร ก็ทำให้รู้ว่า ทางนั้นไม่ต้องไปต่อ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือ แต่จะทำอย่างไรให้สามารถนำเครื่องมือมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”