OTT ตลาดแข่งเดือด สมรภูมิช่วงชิง “โอกาส” ธุรกิจ

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ปีที่ผ่านมาตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์โลกเติบโตกว่าอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ และมียอดซับสคริปชั่นสูงกว่าเคเบิลทีวี ด้วยมูลค่าถึง 55.7 พันล้านเหรียญ และมีจำนวนซับสคริปชั่นกว่า 613 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้น 27% จากปี 2560 ทั้งยังมียอดใช้จ่ายเติบโต 34% และด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสมาคมผู้กำกับแห่งประเทศไทย จึงเปิดเวที “Fast Track Creative Digital Economy” ร่วมกันหาโอกาสและอุปสรรคของอุตสาหกรรมนี้ในอาเซียน

OTT ตลาดปราบเซียน

“ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล” ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ Viu ระบุว่า การดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีทำให้เกิดอุตสาหกรรม OTT (over-the-top) ที่เป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์ แบ่งได้ 3 ระดับ 1.ผู้เล่น global 2.ผู้เล่น regional และ 3.ผู้เล่น local ซึ่งมีรูปแบบการให้บริการ 3 แบบหลัก

1.AVOD (ดูฟรี หารายได้จากโฆษณา)

2.SVOD (รายได้จากค่าสมาชิก)

3.TVOD (เช่าจ่ายเป็นเรื่อง)

เฉพาะในอาเซียนมีผู้ให้บริการกว่า 50 ราย มีผู้ชมรวมกว่า 500 ล้านราย รับชมเฉลี่ย 3 ชั่วโมง/สัปดาห์ และคาดว่าภายในปี 2566 จะมีมูลค่าตลาด OTT ถึง 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“แม้ว่าผู้เล่นจะเยอะ แต่ยังมีที่ให้โต และยิ่งผู้เล่นเยอะ ตลาดยิ่งเติบโต อย่าง Netflix มีงบฯการตลาดเยอะมาก ยิ่งทุ่มใส่ตลาด ผู้บริโภคยิ่งรู้จัก OTT ฉะนั้น ไว้ตลาดตันค่อยฆ่ากัน”

ขณะที่ตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดปราบเซียน เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีความหลากหลายมาก อย่างในประเทศไทย แค่ผู้บริโภคในกรุงเทพฯกับหัวเมืองก็มีวัฒนธรรมในการรับชมคอนเทนต์ที่ต่างกัน ประเทศอื่นยิ่งต่างกันมาก มีสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือ ผู้บริโภค “รอไม่ได้” จึงทำให้ผู้เล่นหลายรายในตลาดไปไม่รอด

“ถ้าต้องรอ ผู้บริโภคจะหันไปดูคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์ทันที เพราะเขาต้องการดูและไปพูดต่อบนโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นต้อง แปลซับไตเติลให้คอนเทนต์เร็วที่สุด ทั้งผู้บริโภคยังมีความคาดหวังสูง อยากดูฟรี แต่จ่ายถูกและไม่ชอบโฆษณา กลยุทธ์การทำตลาดต้องบริหารวันต่อวัน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนเร็วมาก ฉะนั้น แม้จะมีโอกาสเติบโตเยอะ แต่อุปสรรคก็เยอะกว่าตลาดฝั่งยุโรป”

จะรอดได้ต้อง “ชัด-แตกต่าง” 

ท่ามกลางการแข่งขัน ผู้ที่จะอยู่รอดได้ต้องมีแบรนด์ที่แข็งแรง มีจุดยืนชัดเจนในด้านคอนเทนต์ แม้จะเป็นรายเล็กก็ไม่เป็นอุปสรรค อย่าง Viu ทำให้คนที่อยากดูคอนเทนต์เกาหลีต้องนึกถึงเป็นที่แรก และต้องสร้างให้เกิดการใช้งานในระยะยาว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ให้โตเร็ว

“ใครมีเงินก็ซื้อคอนเทนต์ได้ แต่เราต้องหายูนีคพอยต์ ถ้าหาไม่ได้ก็ไปไม่รอด ต้องมีรากแก้ว ยิ่งความสัมพันธ์กับผู้ชมยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ อย่างการแปลซับไม่ใช่แค่ต้องเร็ว แต่ต้องตรงใจ ถ้าไม่ตรงใจ คนดูเลิกตามทันที ถ้าเราทำให้เขารัก ยอดยกเลิกจะต่ำ ซึ่ง Viu ยอดยกเลิกต่ำมาก ขณะที่ตลาด OTT มียอดยกเลิกค่อนข้างสูง”

แข่งเดือด ชู “ครบ-เร็ว”

“อาทิมา สุรพงษ์ชัย” หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การให้บริการในไทยถือเป็นตลาดที่มีช่องทางการจ่ายค่าบริการมากที่สุด ในทุกตลาดที่ไอฟลิกซ์เปิดบริการ คือ มีทั้งตู้เติมเงิน คูปอง อีคอมเมิร์ซ จ่ายผ่านโอเปอเรเตอร์ และบัตรเครดิต เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งยังต้องมีความยืดหยุ่นด้านราคา เพื่อรองรับลูกค้าที่มีกำลังจ่ายต่างกัน จึงต้องมีทั้งโมเดลการจ่ายค่าบริการแบบรายวัน รายเดือน แต่สิ่งที่สำคัญคือ “ต้องครบและเร็ว” 

“ผู้บริโภคสามารถรับชมได้มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ฉะนั้นต้องมีครบและเร็วกว่า ซึ่งไอฟลิกซ์ยังเติบโตได้ถึง 3 เท่า แม้ค่ายดัง ๆ จะดึงคอนเทนต์กลับไป เพราะปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์หลายรายหันมาให้บริการ OTT เอง และผู้ให้บริการ OTT หลายรายก็ทุ่มเงินสร้างออริจินอลคอนเทนต์เอง”

ฟาก “Matt Vitins” Chief Operating Officer Matchbox Pictures กล่าวว่า ทุกแพลตฟอร์มต้องการคอนเทนต์จำนวนมาก จึงต้องใช้เงินกับส่วนนี้มากไปด้วย ซึ่งในธุรกิจทีวีก็มีทั้งผู้ประกอบการที่ขาดทุน และผู้ที่กำไร เป็นธรรมดาที่ธุรกิจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะเกิดฟองสบู่ในอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ มองว่าผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่น่าจะมีทางรับมือได้ อาจจะเป็นแค่แรงสั่นสะเทือน

ขณะที่ “ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี” ระบุว่า อุตสาหกรรมมีภาวะที่แข่งกันจนไม่ลืมหูลืมตา ผู้ประกอบการทุกรายทุ่มสร้างออรินอลคอนเทนต์ เพราะคิดว่าจะใช้เป็น “หัวหอก” ในการแข่งขัน แต่ก็จะมีทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จและที่ไม่มีคนดู ฉะนั้น ฟองสบู่ในอุตสาหกรรมอาจเกิด แต่เชื่อว่าธุรกิจคงไม่ล่มสลาย เพียงแต่จะเหลือแค่ผู้ที่แข็งแรง และต่อไปจะมีการใช้ AI เพื่อวิเคราะห์ในกระบวนการหาคอนเทนต์ ซึ่งจะยิ่งทำให้ธุรกิจแข็งแรง

“OTT สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ หากภาครัฐสนับสนุนให้ถูกต้อง สร้างงานที่ทำให้คนดูได้ทั้งในระดับ global และ local จะเป็นช่องทางให้ผู้ทำคอนเทนต์อยู่รอดในยุคนี้”

เว็บเถื่อนยังเป็นปัญหาสำคัญ

“Jennifer Batty” Chief Content Officer HOOQ ผู้ให้บริการ OTT อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์เป็นอุปสรรคสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการแก้ปัญหา รวมถึงการนำคอนเทนต์ออกมาฉายให้เร็วขึ้น กำหนดอัตราค่าบริการที่ถูกลง และมีแพ็กเกจให้เลือกมากขึ้น

“เราต้องต่อสู้ทุกวิถีทาง เพราะปัญหานี้เยอะมาก ที่ผ่านมาเคยลงซีรีส์ในแพลตฟอร์มแค่ 2 ชั่วโมง เว็บเถื่อนก็เอามาลง พร้อมซับไตเติล 15 ภาษา ทำให้คนดูกว่าครึ่งยังดูแบบผิดกฎหมาย”

เล็งถก “อาเซียน”

“ดร.สรณันท์ จิวะสุรัตน์” รองผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตไม่มีพรมแดน จึงเป็นความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ปกป้องผู้สร้างสรรค์

ผลงาน จำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนมีแผนจะผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยต้องสมดุลทั้งการควบคุมและส่งเสริมนวัตกรรม

ขณะที่ “ผศ.ดร.ภักดี มะนะเวศ” รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้ตั้งศูนย์ดูแลปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อย่นระยะเวลาในการปิดเว็บไซต์เถื่อน จากที่ต้องใช้เวลาประสานงานแต่ละหน่วยงานอย่างน้อย 60 วัน เหลือเพียง 3 วัน

ส่วนการกำกับบริการ OTT ปัจจุบันยังไม่มีการควบคุม แต่จะมีการหารือในที่ประชุมอาเซียน หาทางกำกับดูแล OTT ที่เหมาะสม