People Transformation

pixabay

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ


People Transformation หรือการปรับองค์กรเข้าสู่ดิจิทัลด้วยการพัฒนาและการจัดการเรื่องของ “คน” เป็นเรื่องที่ผมวางไว้ในหลักสูตร DEFg มีนักเรียนที่ทำ HR มานั่งเรียนกันเยอะทีเดียว

มืออาชีพอย่างคุณสุนทร เด่นธรรม จาก Humanica ระบุว่า HRD (Human Resource Development) คือ ต่อไปการให้ benefit ของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน มีลักษณะเป็น personalized มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีมาช่วย จะเห็นมากขึ้น

HR จะมีเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยทั้งในการ 1.recruitment หรือการคัดสรรคนเข้ามาในองค์กร 2.maintenance การทำให้คนอยู่กับองค์กร และ 3.engagement การทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปด้วยกัน

อีกคนคือ คุณอานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ จาก Wongnai.com ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพด้านอาหารและพัฒนาไปอีกหลายด้าน มีพนักงานมากถึง 370 คน อายุเฉลี่ย 27 ปี และ 90% สถานภาพโสด เรียกว่ายังมีภาระน้อย การลองผิดลองถูกของเขามีความยืดหยุ่นสูง

ฉะนั้น การบริหารคนกลุ่มนี้ หลาย ๆ องค์กรเองกำลังเผชิญปัญหาเหมือนกัน คือ รับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาแล้วไม่สามารถบริหารหรือรักษาคนรุ่นใหม่ไว้ได้ แต่วิธีคิดของ Wongnai น่าสนใจมากครับ ที่นี่มีสวัสดิการที่น่าสนใจจริง ๆ

ข้อแรกเลย คือ เริ่มงานสิบโมงเช้าได้ มีอาหารกลางวันฟรี วันจันทร์ พุธ และศุกร์ ทำงานจากที่บ้านได้หากหัวหน้าโอเค ลาได้ไม่จำกัด มี MacBook ให้ทุกคน ใช้ผลสำเร็จของงานเป็นตัววัดผล

หลังห้าโมงเย็นมีเบียร์ฟรี มีคนมานวด ปรับเงินเดือนทุกสามเดือน ฯลฯ ทำงานใน coworking space ที่ชื่อ WeWork ตรงทองหล่อ เป็นออฟฟิศที่สวยมาก เรียกว่าเป็นบริษัทของเด็กรุ่นใหม่จริง ๆ ที่นี่ติดอันดับบริษัทที่คนรุ่นใหม่ อยากไปทำงานมากที่สุด

จุดนี้เองที่กระตุกต่อมของคนที่เป็น HR หรือผู้บริหารหลายคน ให้แปลกใจว่ามีองค์กรแบบนี้ด้วยหรือ ทำแบบนี้แล้วจะมีปัญหาหรือเปล่า บอกได้เลยครับว่าเป็น culture ที่น่าสนใจมาก หลาย ๆ อย่างที่เป็นวิธีคิดแบบใหม่ ๆ เช่น มีการพัฒนาคนด้วยการบอกเลเวลว่าคุณอยู่จุดไหน การพัฒนาตัวตนของคุณ ฯลฯ ซึ่งสามารถเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องการบริหารคนได้อย่างมาก

วิธีคิดของ HR Wongnai ต้องบอกว่า ด้วยความที่เขาไม่ได้จบ HR มาโดยตรงแต่จบวิศวกร ทำให้มีวิธีคิดที่สุดยอดมาก เขามองว่าพนักงานหรือทีมงานอยากได้อะไรก็ทำตามนั้น บางทีการที่เราไม่ได้เรียนอะไรมาทางด้านนั้น ๆ โดยตรงจะทำให้ไม่มีกรอบ และพร้อมเปิดรับกับการเข้ามาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ การบริหารคนรุ่นใหม่หากเอาเรื่องของ HR ที่เคยเรียนรู้มาเมื่อ 10-20 ปีก่อนมาใช้กับเด็กรุ่นใหม่มันอาจไม่เหมาะแล้ว นั่นคือสิ่งที่ผมเองก็ได้เรียนรู้เช่นกัน

ผมชอบคำหนึ่งที่เขาพูดว่า การพัฒนาองค์กรในวันนี้ต้องพัฒนาในเรื่องของ core values หรือแนวคิดในการทำงานขององค์กร ซึ่งทุกคนในองค์กรต้องสามารถอธิบายได้หมด ไม่ใช่คำสวย ๆ ที่แปะไว้บนผนัง ที่บริษัทของเขาทุกคนพูดได้และใช้โดยตลอด เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร สอดแทรกอยู่ในการทำงานทุก ๆ อย่าง ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่เจ๋งมากครับ

สำหรับที่ TARAD เองก็มี core values เช่นกัน ผมเองก็ปรับเอามาใช้แล้ว โดยของผมจะมีเดือนของ core values ในแต่ละตัว ซึ่งมีด้วยกัน 5 ตัว เช่น เดือนนี้จะพูดถึง T-teamwork ก็จะพูดถึงแต่เรื่องนี้ เดือนต่อไปก็จะพูดถึง A-accoutability ฯลฯ คือต้องทำให้ทีมงานเห็นว่าการทำงานของเขามันลิงก์กับ core values ขององค์กรเราอย่างไร ผมเห็นด้วยว่ามันคือวิธีการทำงานขององค์กร แม้แต่ที่อินโดนีเซียที่ผมได้ไปเห็นสตาร์ตอัพที่เป็นยูนิคอร์นหลายตัว ทุกคนต่างพูดถึงเรื่องของ core values กันหมด

ฉะนั้น ผมอาจต้องกลับมาถามท่านที่เป็นผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการว่า core values หรือวัฒนธรรมในการทำงานของคุณคืออะไร ส่วนใหญ่ CEO หรือเจ้าของจะพูดได้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทีมงานของคุณละครับตอบได้หรือไม่

คุณสามารถสื่อสารวัฒนธรรมในการทำงานลงไปถึงทุกคนในองค์กรได้หรือยัง ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากเลยทีเดียว และไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวท่านเลย