การตลาดยุค 3 เสิร์ช “เรียล” ด้วย “ไมโครอินฟลูเอนเซอร์”

ในยุคที่ “โฆษณา” แบบเดิมไร้ผล “อินฟลูเอนเซอร์” จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทุกแบรนด์ให้ความสำคัญ

“อนุพงศ์ จันทร” ผู้บริหาร Revu แพลตฟอร์มด้านการรีวิวสินค้าและบริการในเครือ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ระบุว่า ปี 2017 เกิดการทำตลาดโดย influencer รีวิวสินค้า แต่พอปี 2018 ผู้บริโภคเริ่มจับได้ว่าเป็นการจ้าง จึงเกิดการทำตลาดโดย macroinfluencer และปี 2019 การรีวิวลงลึกในระดับ microinfluencer เพราะผู้บริโภคต้องการหารีวิวจากผู้ใช้จริง

ปัจจุบันมีผู้บริโภคเพียง 14% ที่เชื่อถือโฆษณา 20% เชื่อถือดารา แต่ 92% จะเชื่อถือรีวิวจากบุคคลทั่วไป

ข้อมูลที่มากกว่าแบรนด์

การทำการตลาดออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ จึีงต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.สร้างอะแวร์เนสโดยใช้เซเลบ ดารา ที่มียอดผู้ติดตามมาก 2.ใช้พาวเวอร์อินฟลูเอนเซอร์ให้ข้อมูลสินค้าที่มากกว่าแบรนด์ให้ และ 3.ใช้ macro หรือ microinfluencer ในการรีวิวสินค้า

ปัจจุบันคนเห็นโฆษณาจะเสิร์ชทันที และคอนเทนต์ที่คนเชื่อ คือ คอนเทนต์ที่ดูจริงที่สุด ไม่โฆษณา ยิ่งตัดต่อน้อยยิ่งดี แต่ microinfluencer ไม่ได้ช่วยปิดการขาย แค่เป็นตัวช่วยสุดท้ายก่อนตัดสินใจซื้อ

“พฤติกรรมผู้บริโภคมี 3 เสิร์ช 1.เสิร์ชหาแบรนด์ ทั้งบนเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก 2.หาบล็อกเกอร์ดังว่ามีรีวิวไหม แต่จะยังไม่เชื่อ 3.จะเสิร์ชหาคนใช้จริงหรือไม่โครอินฟลูเอนเซอร์ จะใช้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่ประสบความสำเร็จ ต้องการวางกลยุทธ์ต้องร่วมกัน ซึ่งสิ่งท้าทายของแบรนด์ในปัจจุบัน คือ ความเข้าใจการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภท”

มีมากแล้วแต่ยังไม่พอ

เทรนด์ของอินฟลูเอนเซอร์มีแนวโน้มอายุลดลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 15-45 ปี และยังมีจำนวนเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของแบรนด์

และด้วยจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ที่มากขึ้น จึงเกิดการแข่งขันในวงการเพื่อสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ ระดับของอินฟลูเอนเซอร์จะแบ่งตามผู้ติดตาม 1.ดารา เซเลบ มีผู้ติดตามหลักล้านคนขึ้นไป ในตลาดมีราว 500 ราย 2.power influencer มีผู้ติดตามหลักแสนถึงหลักล้าน โดยในตลาดมีราว 15,000 ราย แบ่งเป็น Facebook page, Net Idol และ Blogger 3.peer influencer หรือ macroinfluencer มีผู้ติดตามหลักหมื่นถึงหลักแสน มีราว 1 หมื่นราย และ 4.microinfluencer มีผู้ติดตามหลักพันถึงหลักหมื่น มีราว 1 ล้านราย

“แม่และเด็ก” มาแรง

สำหรับสินค้าที่รีวิวและขายได้ง่ายส่วนใหญ่จะมีราคาต่ำกว่า 200 เหรียญสหรัฐ (ราว 6,200 บาท)

โดยสินค้าที่มีการรีวิวมากที่สุด สินค้าหมวดบิวตี้, ไลฟ์สไตล์, และแก็ดเจตต่าง ๆ

ส่วนกลุ่มที่กำลังเติบโต คือ สินค้าแม่และเด็ก กับผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย ซึ่งกลุ่มนี้หาอินฟลูเอนเซอร์รีวิวยาก เพราะมีจำนวนผู้ที่มีลูกมีน้อย และผู้ชายไม่ค่อยชอบทำรีวิว

เทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ยังคงเติบโต เพราะคนไม่เชื่อโฆษณา ส่งผลให้ราคาการจ้าง influencer มีอัตราการเฟ้อถึงปีละ 20-30% โดยเฉพาะในกลุ่ม power influencer ที่มีราคาจ้างหลักแสนขึ้นไป

“แค่หยิบ จับ ถือ ใช้ ราคาก็ไม่เหมือนกัน แต่ต่อไปกลุ่ม Net Idol จะหายไป เพราะแค่หยิบรูปสินค้ามาถ่ายไม่ได้อธิบายอะไร”

สิ่งที่จะทำให้อินฟลูเอนเซอร์อยู่ได้ คือ ความจริงใจ ความเรียลสำคัญสุด ไม่ว่าจะเป็น influencer ในระดับไหน

รับอานิสงส์ขยายสู่ 6 ประเทศ

ด้วยการเติบโตข้างต้นทำให้ภาพรวม “เรวู” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโต 2 หลักต่อเนื่องทุกปี โดยปีที่ผ่านมารายได้เติบโต 40% ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 500 แบรนด์ที่ใช้งาน มีรีวิวแล้วกว่า 18,000 ชิ้น ผ่าน 166 แคมเปญ 1,479 โปรดักต์ มีนักรีวิวกว่า 11,000 คน 77% เป็นเพศหญิง อายุประมาณ 18-34 ปี โดยบริษัทตั้งเป้าในสิ้นปีนี้มีนักรีวิว 15,000 คน รายได้เติบโต 30%

ล่าสุดได้ร่วมกับแพลตฟอร์ม sellzabuy.com ของวายดีเอ็มเพื่อช่วยนักรีวิวในการนำเสนอสินค้าหรือบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยผู้รีวิวจะได้ส่วนแบ่งจากยอดขายด้วย ปัจจุบันค่าบริการอยู่ที่ 45,000 บาท/แคมเปญ จะมีรีวิว 10 คน มียอดเพจวิวประมาณ 10,000 วิว/เดือน

ทั้งยังตั้งเป้าขยายตลาดในระดับภูมิภาคภายใต้ชื่อ Revu Family จะเปิดบริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้, ประเทศไทย, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม รวมนักรีวิวบนแพลตฟอร์มกว่า 500,000 คน ช่วยให้แบรนด์ที่ต้องการบุกตลาดต่างประเทศสามารถเข้าถึงไมโครอินฟลูเอนเซอร์ของประเทศนั้น ๆ ได้อย่างสะดวกขึ้น

เทรนด์การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์เป็นเหมือนกันทั้งอาเซียน แต่อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละประเทศ เช่น ไทยเน้นรีวิวผ่านบล็อก แต่ในเวียดนามนิยมรีวิวผ่านเฟซบุ๊ก หรือไต้หวันที่นิยมรีวิวผ่านอินสตาแกรม

“และตอนนี้เริ่มมีการทำตลาดข้ามประเทศแล้ว โดยไทยสนใจตลาดเวียดนาม เกาหลีสนใจตลาดไทย ส่วนใหญ่เป็นบิวตี้โปรดักต์”