เฟ้นหาสตาร์ตอัพ Synergy ภารกิจ 1,500 ล้าน “สิริ เวนเจอร์ส”

สัมภาษณ์

เข้าสู่ปีที่ 2 แล้วสำหรับ “สิริ เวนเจอร์ส” บริษัทร่วมลงทุนในรูปแบบ corporate venture capital (CVC) ของ บมจ.แสนสิริ อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่รับมือกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น ด้วยการตั้ง CVC “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดทิศทางจากนี้ และมุมมองต่อสตาร์ตอัพไทย กับประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส “จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์”

ปีกว่า ทุ่ม 300 ล้าน

CTO ของสิริ เวนเจอร์ส ย้อนถึงที่มาว่า “แสนสิริ” ต้องการจะรับมือกับดิจิทัลดิสรัปชั่น แม้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังต้องเดินหน้าซื้อที่ดิน สร้างตึก ยังไม่เห็นการถูกดิสรัปต์ที่ชัดเจน แต่ส่วนอื่น ที่เกี่ยวข้องกำลังเริ่มถูกดิสรัปต์เรื่อย ๆ ที่เห็นชัดคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี

หน้าที่ของสิริ เวนเจอร์ส จึงเป็นการเฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสร้างอิมแพ็กต์ให้กับทั้งธุรกิจของแสนสิริ ลูกค้าบ้านของแสนสิริ และมีส่วนสร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวเนื่อง หนึ่งปีกว่า ๆ ได้ลงทุนไปแล้ว 300 ล้านบาท ใน 6 สตาร์ตอัพ และ 2 fund of funds คือ “China Renaissance” CVC ในจีน และ “Fifth Wall” CVC ที่เน้นลงทุนใน PropTech

แม้เวลานี้ ยังไม่เห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในแง่ financial เพราะจะเกิดต่อเมื่อมีการ exit แต่สิ่งที่ได้แล้ว
คือ การ synergy ของสตาร์ตอัพกับแสนสิริ ทั้งการทำให้ลูกบ้านสะดวกสบายขึ้น และสร้างแบรนด์ในฐานะ technology leader ทำให้ตลาดเห็นว่า แสนสิริ เป็นบริษัทที่มองการณ์ไกล เป็นบริษัทที่ Cool

3 ปี พร้อมทุ่ม 1,500 ล้าน

ขณะที่ใน 6 เดือนจากนี้ ได้เตรียมเงินสำหรับลงทุนในสตาร์ตอัพอีก 600 ล้านบาท เทคโนโลยีที่โฟกัส คือ ConstTech, PropTech, living & wellbeing และ SustainTech ซึ่งตอนนี้มีคุยอยู่ 2 ราย ยังเป็นขั้นตอนก่อนจะทำดิวดิลิเจนซ์

“ยังตามแผนเดิมที่วางไว้ว่า 3 ปีจะลงทุน 1,500 ล้านบาท แต่การเลือกจะดูเยอะกว่าปีก่อน เพราะขนาดการลงทุนที่ใหญ่ขึ้น และต้องชัดเจนว่าสามารถ synergy กับแสนสิริได้แบบทันที”

PropTech Sandbox หาดาวรุ่ง

ขณะเดียวกันได้เปิดโครงการ PropTech Sandbox เพื่อเป็นพื้นที่ให้สตาร์ตอัพได้มีสนามทดลองยูสเคสจริง และถ้าอยู่ในโครงการ 6-9 เดือนแล้วเวิร์ก ก็อาจจะเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุน ซึ่งตอนนี้เริ่มแล้วกับ 4 สตาร์ตอัพ ทั้งไทยและต่างประเทศ อย่างการนำโดรนดีลิเวอรี่ ยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ เข้ามาทดสอบในพื้นที่โครงการ T77 ย่านอ่อนนุช ของแสนสิริ และทำงานร่วมกับ สวทช. เพื่อช่วยกันผลักดันเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ของภาครัฐด้วย เพราะทุกอย่างที่อยู่ใน sandbox เป็นเรื่องใหม่ รวมถึงนำยูสเคสที่ได้ทดลองใน sandbox เป็นข้อมูลที่จะพิสูจน์ให้ภาครัฐเห็นว่าเทคโนโลยีพร้อมแล้ว เพราะจริง ๆ ตอนนี้เทคโนโลยีหลายอย่างพร้อมจะเข้าสู่ตลาดแล้ว แต่ยังติดขัดในแง่ของกฎระเบียบที่จะนำมาใช้ได้จริง

มุมมองหมวก 2 ใบ “ผู้ใช้-CVC”

ปีกว่าที่ผ่านมาได้ลงทุนในสตาร์ตอัพไทยแค่ 2 ราย ที่เหลือเป็นต่างชาติ เนื่องจากเทคโนโลยีที่สนใจ สตาร์ตอัพไทยยังพัฒนาได้น้อย อาจจะยังไม่ลงลึกและตอบโจทย์เท่า อย่างเทคโนโลยีพลังงานทดแทน แม้ในไทยจะมีบ้างแล้ว แต่ ณ ปีที่แล้ว รูปแบบยังไม่ตอบโจทย์ที่จะนำมาใช้กับโครงการของแสนสิริ

สำหรับจุดเด่นของสตาร์ตอัพไทย คือ จะมีมุมมองที่รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงตลาดไทยได้ดี ฉะนั้นในแง่ที่สวมหมวกในการหาอิมแพ็กต์ให้กับแสนสิริ สตาร์ตอัพไทยก็จะพัฒนาในสิ่งที่ตอบโจทย์กับผู้บริโภคไทยได้กว่าสตาร์ตอัพจากต่างประเทศ ทั้งในหลายเทคโนโลยีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงให้สตาร์ตอัพจากฝั่งอเมริกา หรือยุโรป เข้ามาในตลาดไทย

แต่ถ้าในฐานะที่ต้องสวมหมวกของ “นักลงทุน” ด้วย ก็จะเห็นจุดอ่อนที่ชัดเจนของสตาร์ตอัพไทย คือ “สเกลอัพ” ธุรกิจลำบาก เพราะโฟกัสแค่ตลาดไทย การจะเลือกลงทุนในสตาร์ตอัพสักราย ต้องเห็นภาพชัดว่า ในอีก 3-5 ปีเขาต้องอยู่รอด ต้องโตได้ ซึ่งการลงทุนที่ตั้งใจไว้ คือ จะเน้นที่สตาร์ตอัพระดับซีรีส์ A ขึ้นไป เพราะจะช่วยการันตีได้ส่วนหนึ่งว่าจะไม่ล้มหายตายจากไปง่าย ๆ

นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่กว่าจะดึงสตาร์ตอัพเข้าพอร์ตลงทุนได้ ต้องใช้เวลาและไม่สามารถตั้งเป้า “จำนวน” ที่จะลงทุนแต่ละปีได้

เงินเยอะ-สตาร์ตอัพไทยไม่พร้อม

ทุกวันนี้องค์กรในไทยตื่นตัวกับดิจิทัลดิสรัปชั่นอย่างมาก บรรดาบิ๊กคอร์ปอเรตน่าจะตั้ง CVC กันหมดแล้ว ต่อไปที่จะได้เห็นคือบรรดาองค์กรขนาดกลางและย่อยลงไปจะตื่นตัวในการลงทุนในอินโนเวชั่น ในสตาร์ตอัพมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีของวงการสตาร์ตอัพ

แต่ที่น่าเสียดาย คือแม้จะมี CVC เยอะมาก แต่กลายเป็นว่าต้องไปลงทุนในสตาร์ตอัพต่างชาติมากกว่า เพราะในไทยยังมีสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพพร้อม ตอบโจทย์ได้น้อย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่สิริ เวนเจอร์ส รวมถึง CVC อื่น ๆ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการช่วยกันผลักดันอีโคซิสเต็ม ทำ sandbox เพื่อช่วยกันหลาย ๆ ฝ่ายให้สตาร์ตอัพไทยแข็งแรงขึ้น เติบโตได้

“สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ คือ เงินที่พร้อมจะลงทุน มีมากกว่าสตาร์ตอัพ ยิ่งถ้าเป็นสตาร์ตอัพด้าน DeepTech ยิ่งมีน้อยมาก ๆ”

แต่โดยส่วนตัวแล้ว แม้จะชอบ DeepTech แต่ก็มองว่าจะเป็น DeepTech หรือไม่ก็ได้ ถ้าสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาได้ตรงจุดจริง ๆ