EIC ชี้ ทีวีดิจิทัลยังแย่งโฆษณาอุตลุด  แม้ 7 ช่องลาจอ ”Home shopping” ยืนหนึ่งรายได้หลัก

หลังจากเมื่อเที่ยงคืนวันที่  15 สิงหาคม 2562 กลุ่มช่องทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาตก่อนกำหนด 3 ช่องไดัแก่ ช่อง Spring News, ช่อง Spring26, ช่อง Bright TV)  ได้ยุติออกอากาศอย่างถาวร

และในวันที่ 16 สิงหาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กสทช.” ได้มอบเงินเยียวยาให้กับทั้ง 3 ช่องรวมเป็นเงิน 1.3 พันล้านบาท

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ “ทิศทางทีวีดิจิทัลไทยจะเป็นอย่างไรหลัง 7 ช่องทยอยจอดำ?”

โดย “ดร. กมลมาลย์ แจ้งล้อม” นักวิเคราะห์อาวุโส ระบุว่า ในระยะสั้น การคืนใบอนุญาตของ 7 ช่องได้แก่  Spring 26 (NOW 26 เดิม), Spring News, Bright 20, Voice TV, MCOT Family, CH 3 Family และ CH 3 SD ส่งผลบวกต่อภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเล็กน้อย  เนื่องจากรายได้จากการโฆษณาของทีวีดิจิทัล 7 ช่องในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีสัดส่วนเฉลี่ยต่ำกว่า 5% ของมูลค่าโฆษณาทางทีวีทั้งหมด

ขณะที่ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่ยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อเนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลง

ยิ่งไปกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศที่ผันผวนในช่วงของปี 2562  รวมถึงการปรับราคาโฆษณาทีวีสูงขึ้นกว่า 4% ส่งผลให้บริษัทห้างร้านและเจ้าของผลิตภัณฑ์ชะลอการลงเม็ดเงินโฆษณาออกไป

Advertisment

โดย Nielsen ประเมินว่าเม็ดเงินในการโฆษณาทางทีวีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีการปรับลดลงราว 1% (YOY) มาอยู่ที่ราว 3.3 หมื่นล้านบาท

ในระยะกลาง EIC ประเมินว่า ผู้ประกอบการที่เหลืออยู่สามารถสร้างรายได้และผลกำไรที่ดีขึ้นจากเม็ดเงินโฆษณาจากกลุ่มทีวีโฮมช็อปปิ้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการปรับกลยุทธ์ ในปี 2561

Advertisment

กลุ่มธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้ง เช่น TV Direct, Sanook Shopping, O Shopping มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงโฆษณาจากแบบช่วงเวลาเป็นการโฆษณาขายสินค้าตลอดทั้งวัน ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี

เม็ดเงินเหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการทีวีโฮมช็อปปิ้งหน้าใหม่จำนวนมากที่แข่งขันกันทำตลาดส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวีมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ต่างมีแผนปรับกลยุทธ์ซื้อคอนเทนท์ใหม่ ๆ จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศเพื่อชิงเรทติ้งผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นราว 30% คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 8 พันล้านบาทในปีนี้แทนการผลิตคอนเทนท์เองที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้มีรายจ่ายที่ลดลงและมีผลกำไรที่ดีขึ้น

รวมทั้งมีการปรับสัดส่วนโครงสร้างธุรกิจโดยขยายช่องทางการรับชมผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้และต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคต