“VaaKEye” ระบบสกัดอาชญากรรมสุดล้ำ

คอลัมน์ Startup ปัญหาทำเงิน

โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ตอนดูหนังเรื่อง Minority Report คงไม่มีใครคิดว่า อีก 17 ปีจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้รู้ตัวคนร้ายก่อนจะลงมือทำผิดได้จริง ๆ

สตาร์ตอัพในวันนี้มาจากญี่ปุ่น ชื่อ VaaK พัฒนาระบบ AI ชื่อ VaakEye ที่ช่วยจับขโมยตามห้างได้ก่อนจะลงมือก่อเหตุ โดยเชื่อมกับทีวีวงจรปิดภายในร้าน ทำหน้าที่เหมือน “ดวงตา” คอยสอดส่องและวิเคราะห์พฤติกรรม การแต่งตัว การแสดงออกทางสีหน้า ไปจนถึงภาษากายของคนที่เข้ามาในร้าน

หากพบใครมีพิรุธ เช่น ดูลุกลี้ลุกลน ล่อกแล่ก ผิดสังเกต ระบบจะแจ้งเตือนไปยังมือถือของพนักงานให้เข้าไปสอบถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรหรือไม่ ซึ่งจะทำให้คนที่คิดจะขโมยของต้องเลิกล้มความตั้งใจไปโดยปริยาย เป็นการป้องกันอาชญากรรมได้ล่วงหน้าแบบแนบเนียน

VaaK สร้างชื่อให้ตัวเองเมื่อปีที่แล้ว ตอนทดสอบระบบในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง และสามารถระบุตัวลูกค้าที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยออกมาได้ล่วงหน้า เมื่อรอสักพักลูกค้าก็ลงมือก่อเหตุจริง ๆ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศว่า ระบบป้องกันอาชญากรรมแห่งโลกอนาคตได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

แน่นอนว่าวงการค้าปลีกต้องตื่นเต้นกับข่าวนี้ เพราะปีหนึ่ง ๆ ต้องสูญรายได้กว่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญ จากเหตุลักขโมย ถึงจะคิดเป็นแค่ 2% ของรายได้ทั้งหมด แต่เพราะเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นน้อย หากลดความเสียหายส่วนนี้ได้ก็ย่อมส่งผลดี จึงไม่แปลกที่ห้างทั่วโลกจะลงทุนปีละ 4 พันล้านเหรียญ เพื่อจ้างคนมาคอยตรวจจับหัวขโมย แต่ว่าไม่ค่อยได้ผลนัก

เทคโนโลยีของ VaaK จึงดูมีภาษีขึ้นมา ยิ่งเมื่อดูตัวเลขการลงทุนด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมค้าปลีกที่คาดว่าจะทะลุ 2 แสนล้านเหรียญในปีนี้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าห้างจะเขียมกับเรื่องเทคโนโลยี แถมจะว่าไป การติดตั้ง VaaKEye ก็ไม่ต้องลงทุนมาก เพราะทุกห้างมีกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว จ่ายแค่ค่าซอฟต์แวร์จาก VaaK

VaaK ก่อตั้งในปี 2017 ได้เงินทุนก้อนแรก 5 แสนเหรียญ จาก SoftBank Group Corp มาพัฒนาระบบ ปัจจุบันติดตั้ง VaakEye ในร้านสะดวกซื้อกว่า 50 สาขาในโตเกียว และสามารถลดการลักขโมยได้ถึง 77%

ความตั้งใจของ “เรียว ทานากะ” ผู้ก่อตั้ง คือ ทำให้ VaakEye เป็นระบบป้องกันการก่อการร้ายและอาชญากรรมอื่น ๆ มากกว่าแค่การลักขโมยตามห้าง เป้าหมายคือขยายการติดตั้งระบบให้ครอบคลุมห้างร้านต่าง ๆ

ตลอดจนตามสถานีรถไฟและสนามบินหลักทั่วญี่ปุ่น รวมทั้งเปิดตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจากับหน่วยงานของรัฐในสิงคโปร์ อเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

“VaaK” เตรียมระดมทุนรอบแรกในเดือนนี้ (สิงหาคม) และคาดว่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 18 ล้านเหรียญ เพื่อมาขยายกิจการตามเป้าที่วางไว้ โดยทานากะบอกว่า หากบริษัทสามารถขยายกิจการไปต่างประเทศได้ ทางกองทุนยักษ์ใหญ่อย่าง Vi-sion Fund ของ SoftBank แสดงความสนใจจะเข้าร่วมลงทุนด้วยในปีหน้า

นอกจากนี้ เขามองว่า VaaKEye ยังสามารถต่อยอดให้กลายเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายและมาร์เก็ตติ้งได้ด้วย โดยตอนนี้บริษัทพัฒนาระบบการจ่ายเงินด้วยตัวเองสำหรับใช้ในห้าง ที่นอกจากเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าไม่ต้องยืนต่อคิวที่แคชเชียร์ ยังบันทึกข้อมูล (ระบบเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิด) ต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมการช็อปปิ้งของลูกค้า เพื่อให้ร้านนำไปปรับปรุงบริการรวมทั้งการจัดชั้นวางสินค้าให้เหมาะสมต่อไป

“ทานากะ” ตั้งเป้าจะติดตั้ง VaakEye ให้ได้ 1 แสนโลเกชั่นทั่วประเทศใน 3 ปี และนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ภายในปี 2022

ปัจจุบัน VaaK มีสำนักงานใหญ่ในโตเกียว มีพนักงาน 50 คน และแพลนจะเปิดบริษัทย่อยในสิงคโปร์ และซานฟรานซิสโก ภายในสิ้นปีนี้