“เรียนลัด” รับมือดิสรัปต์ ส่องต้นแบบความสำเร็จยักษ์ใหญ่

เดินหน้าโครงการ AIS Academy for THAIs : to The Region อย่างต่อเนื่องสำหรับ “เอไอเอส” ภายใต้แนวคิดองค์ความรู้สู่ภูมิภาค ล่าสุดเลือก “ขอนแก่น” เป็นจุดส่งต่อประสบการณ์เพื่อรับมือกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง

“กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจคลาวด์และซอฟต์แวร์โซลูชั่น บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นี่คือยุคที่ทุกอย่างพลิกผัน ทั้งเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ

“องค์กรต้องตั้งสติและหาทางรับมือเพื่อโต้กลับกับความเปลี่ยนแปลง กระโจนเข้าไปสู้ ไม่ใช่รอให้ถูกดิสรัปต์ คนที่จะเป็นที่หนึ่งให้ตลอด ต้องไม่หยุดจะพัฒนา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ แต่มองดูว่าคนอื่นทำอะไร จะเป็นไอเดียให้เริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ได้”

เทกโอเวอร์=ทางลัด

เมื่อ “ความเร็ว” คือสิ่งสำคัญ ถ้าทำเองเร็วไม่พอ ก็ไปซื้อธุรกิจนั้นมาเลย อย่างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา “Walmart” ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น แม้ Walmart จะพยายามบุกอีคอมเมิร์ซเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“Walmart” ใช้เงินแสนล้านบาทในการซื้อสตาร์ตอัพด้านอีคอมเมิร์ซ Jet.com ซึ่งทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซสู้กับอเมซอนได้ โดยมีจุดขายที่แตกต่างกัน ด้วยการบริหารจัดการให้โปรดักต์ของลูกค้าบนแพลตฟอร์มไม่ให้ห้ำหั่นราคากันเหมือนที่อื่น มีนโยบายคืนสินค้าที่ทำให้ลูกค้าไม่สับสน ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงมีแบรนด์ดังอยู่ด้วยเยอะ”

Walmart ปล่อยให้ Jet บริหารตัวเอง แต่นำสินค้าของ Walmart เข้าไปขายบน Jet.com ซึ่งทำให้ยอดขาย 1 ปี เพิ่มถึง 40% และอีก 40% ในปีถัดไป

ต่อยอดสู่โลกดิสรัปต์

UPS ผู้ให้บริการรับส่งพัสดุระดับโลก จะเจอปัญหาในช่วงเทศกาลที่มีการส่งของขวัญจำนวนมาก ทำให้รถขนส่งในระบบไม่พอรองรับ จึงเสียโอกาสทางธุรกิจ จึีงเริ่มใช้บริการของ “Coyote”

“Coyote เป็นเหมือนแกร็บในธุรกิจโลจิสติกส์ คือไม่มีรถของตัวเอง แต่มีแอปพลิเคชั่นที่สร้างเครือข่ายรถรวมกว่าหมื่นคัน เมื่อลงทุน 1.8 พันล้านเหรียญไปซื้อ จึงเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ UPS คือ ทั้งได้เครือข่ายรถที่จะใช้กับธุรกิจตัวเอง และยังนำไปให้บริการต่อกับธุรกิจอื่นได้ด้วย เป็นการต่อยอดเข้าไปสู่โลกของดิสรัปชั่นที่น่าสนใจ”

ซื้อทั้งโอกาส-ฐานลูกค้า

ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของโลก “ยูนิลีเวอร์” ซึ่งพยายามนำธุรกิจเข้าสู่โลกออนไลน์แต่ไม่สำเร็จ จึงเข้าซื้อ “Dollar Shave Club” สตาร์ตอัพที่ขายมีดโกนหนวดแบบระบบสมาชิก โดยลูกค้าจะจ่ายเงินเดือนละ 1 ดอลลาร์ (หรือตามแพ็กเกจ) เพื่อให้บริษัทส่งใบมีดโกนถึงบ้านทางไปรษณีย์ทุกเดือน ทั้งยังขยายไปถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าของผู้ชาย จนทำให้มีฐานสมาชิกกว่าล้านราย และมีมาร์เก็ตแชร์สูงขึ้นเรื่อย ๆ

“ตลาดนี้มีแบรนด์ Gillette ของ P&G ที่เป็นคู่แข่งยูนิลีเวอร์อยู่ในตลาด การซื้อ Dollar Shave Club จึงเหมือนซื้อ 1 แต่ได้ถึง 2 คือ ได้ทั้งการนำธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ และได้ฐานลูกค้าพ่วงมาด้วย ยูนิลีเวอร์จึงมีมาร์เก็ตแชร์มากขึ้น และได้ขยายพอร์ตธุรกิจไปในตัว”

ไม่แทนที่ “คน” แต่เสริมแกร่ง

ขณะที่อีกแนวทางคือ “สร้าง” นวัตกรรมด้วยตนเอง อย่าง “Credit Mutuel” สถาบันการเงินของฝรั่งเศส ที่พัฒนา AI เพื่อนำมาทดแทนการอ่านอีเมล์กว่า 3.5 แสนฉบับต่อวันของพนักงาน ซึ่งเสียเวลามากและทำให้พนักงานทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายการใช้ AI อ่านและตอบคำถามลูกค้า ได้ช่วยประหยัดเวลากว่า 60%

“ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่สหภาพแรงงานของพนักงานแข็งแกร่งมาก แต่การนำ AI มาใช้ สิ่งที่ได้คือสหภาพเสนอให้มีการนำ AI มาใช้กับงานส่วนอื่น ๆ ในองค์กร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ พนักงาน happy ะมีเวลาไปทำงานอื่นที่ยาก ๆ มากขึ้น ทำงานได้ตามเป้าที่วางไว้ ทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น โดยเริ่มขยายไปสู่การนำ AI ไปใช้เสนอโปรดักต์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า อย่างกองทุน ประกันอื่น ๆ โดย AI จะช่วยเสริมทักษะให้พนักงานในด้านข้อมูล แล้วให้พนักงานเป็นคนคุยกับลูกค้า นี่คือการนำเทคโนโลยีมาใช้เสริมศักยภาพคน” 

ส่วน “Woodside” บริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของออสเตรเลีย ได้สร้างระบบ AI ที่เกิดจากการรวบรวมประสบการณ์ของวิศวกรที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี กว่าพันคนมารวมเป็นถังข้อมูล เพื่อเป็นต้นแบบให้พนักงานรุ่นใหม่ ๆ ได้รู้ว่าจะรับมือกับในแต่ละกระบวนการทำงานอย่างไร รวมถึงแต่ละปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่หากเกิดความผิดพลาดอาจจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก

ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง

แม้แต่ในประเทศไทยก็มีหลายกรณีศึกษาที่เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เช่น ความร่วมมือของสถาบันการเงินพัฒนาบริการหนังสือค้ำประกันบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ มิ.ย.ที่ผ่านมา และปัจจุบันมี 22 สถาบันการเงินเข้าร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าแบงก์การันตีไม่มีการปลอมแปลง

“การที่แต่ละแบงก์ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน แต่ยอมมาอยู่ด้วยกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้ลูกค้าได้บริการครบทุกอย่างบนแพลตฟอร์มเดียว เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และย้ำถึงเทรนด์ของความร่วมมือเป็นพันธมิตรที่จำเป็นในโลกยุคนี้ เพราะไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง”