ธุรกิจอาหารออนไลน์ โอกาสที่ยังเติบโตได้อีกมาก

คอลัมน์ Pawoot.com
โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

ในงาน Thailand e-Commerce Day ที่ผ่านมา ที่หัวข้อสัมมนาน่าสนใจหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การขายของร้านอาหารด้วย online delivery service ในงานเชิญ GET บริการส่งอาหารทางออนไลน์ Wongnai แอปพลิเคชั่นร้านอาหารอันดับ 1 ของไทย และร้านขายน้ำแข็งไสหวานเย็น “เช็งซิมอี๊” มาพูดคุยถึงการปรับตัวเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ผมขอสรุปให้อ่านตรงนี้ ปัจจุบันร้านขายอาหารที่มีชื่อในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวกันแล้ว จะเห็นว่าบางร้านในช่วง 11 โมงที่มีการสั่งอาหารทางออนไลน์สูงที่สุด มักมีพนักงานขับรถที่จะซื้ออาหารมารอจำนวนมาก ฉะนั้น เจ้าของร้านอาหาร ต้องเอาระบบการสั่งซื้ออาหารออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจของคุณด้วย เช่น ต้องอยู่ใน LINE MAN, Grab Food, GET Food, Foodpanda ฯลฯ

แต่ถ้าวางแผนไม่ดีจะกลายเป็นการเบียดคิวลูกค้าที่มาหน้าร้านค้าจนเกิดปัญหา จึงมีหลายร้านที่แยกการทำอาหารส่งทางออนไลน์ออกมาต่างหาก โดยแยกครัวแยกทีมออกมาเลย

ตอนผมไปประเทศจีนก็เห็นว่ามีร้านอาหารบางแห่งที่เปิดขึ้นมาโดยไม่มีหน้าร้านเลย เป็นครัวไพรเวต ไม่รับลูกค้าหน้าร้าน เป็นครัวที่ทำขึ้นเพื่อขายทางออนไลน์เท่านั้น ตอนนี้บริการสั่งซื้ออาหารทางออนไลน์ขยายไปทั่วประเทศตามหัวเมืองหลักมีแล้ว และจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ธุรกิจอาหารมีตัวเลือกมากและซื้อซ้ำได้ทุกวัน ในจีนมีสัดส่วนสั่งออนไลน์ถึง 20-30% แต่ไทยยังแค่ 3% จึงมีโอกาสโตได้อีกมหาศาล

หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร ต้องเริ่มโฟกัสที่จะทำให้ธุรกิจของคุณโดดเด่นและเข้าตาลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากร้านเช็งซิมอี๊ที่ทำธุรกิจมา 60 ปี ปัจจุบันเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ได้ปรับตัวเองเข้าไปอยู่ในแอปพลิเคชั่นอย่าง GET หรือ Wongnai ทำให้ออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมากในช่วงตอนเย็น

โดยต้องมีวิธีการจัดการกับอาหารให้ไปถึงมือผู้บริโภคได้อร่อยเหมือนเดิม หน้าตาเหมือนเดิม ซึ่งต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ

อย่างของ “เช็งซิมอี๊” ที่มีเรื่องของการบรรจุน้ำแข็งเข้ามาเกี่ยวด้วย เขาจึงใช้กล่องโฟมที่ทำเป็นพิเศษ เพื่อให้ขนมที่ไปถึงมือลูกค้ายังได้อารมณ์เดียวกับเวลาที่สั่งทางหน้าร้าน 

การทำร้านอาหารในยุคนี้พลาดไม่ได้เลย ยิ่งเป็นร้านอาหารเกิดใหม่หรือยังไม่มีคนรู้จัก ผมขอแนะนำว่า คุณต้องเริ่มสร้างแบรนด์ ต้องทำให้คนมากิน มารีวิวร้านอาหารของคุณ ต้องทำให้คนในโลกออนไลน์รู้จักคุณมากขึ้น ไม่ใช่เป็นแบบปากต่อปากเหมือนทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อมีคนพูดถึงในโลกออนไลน์มาก และได้สร้างตัวตนอยู่บนแอปพลิเคชั่นเหล่านี้แล้ว โอกาสที่จะได้ออร์เดอร์หรือมีคนสั่งอาหารผ่านแอปเหล่านี้จะเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น และรายได้ที่มีเข้ามาก็จะโตขึ้นตามมา

ในไทยการส่งอาหารออนไลน์มีที่ประสบความสำเร็จ จนเกิดเป็น โมเดลธุรกิจใหม่ คือ co-cooking space เป็นครัวกลางที่ร้านอาหารออนไลน์สามารถมาเช่าครัวนี้ทำอาหารเป็นรอบ ๆ เมื่อทำเสร็จก็ออกไป เป็นการลดต้นทุนลงไปได้ อย่างของ Wongnai Co-Cooking Space ที่ True Digital Park

เทรนด์การสั่งอาหารออนไลน์นี้น่าสนใจและช่วง 1-2 ปีนี้เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากแนวโน้มของคนที่จะสั่งอาหารออนไลน์โตไม่หยุด ฉะนั้นใครที่ทำร้านอาหารอยู่ ต้องเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าทางออนไลน์

แต่การทำ food ordering หรือ food delivery นั้นโดยเฉพาะอาหารสดมีจุดอ่อนคือขายได้เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น จะเกิดขึ้นได้ตามหัวเมืองและต้องมีระบบขนส่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในจุดเท่านั้น คือยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่หากนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอาหารให้มี life cycle หรืออายุอาหารให้นานมากขึ้น โอกาสก็จะดีมากขึ้น

อย่างร้านราเมนที่ญี่ปุ่นบางร้านมีราเมนแพ็กไว้พร้อมน้ำซุป มีกรรมวิธีฆ่าเชื้ออย่างดี ซื้อกลับไปและนำมากินที่บ้านได้เลย รสชาติเหมือนกินที่ร้าน มีการบรรจุที่สวยงาม นี่คือตัวอย่างของกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและการผลิตที่ดีอันหนึ่ง

เรื่องนี้หากใครที่สนใจ ผมบอกได้เลยว่า อย่ามัวแต่รอ ต้องลงมือทำวันนี้เลย