นวัตกรรมผสาน “ข้อมูล” วิถีพัฒนา “เมือง” รับวันโลกเปลี่ยน

“เมือง” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระแสดิจิทัลดิสรัปต์จะเข้ามาพลิกโฉม บนเวที AIS Academy for THAIs : to The Region องค์ความรู้สู่ภูมิภาค ณ จังหวัดขอนแก่น จึงมีไฮไลต์สำคัญ คือ แนวทางการรับมือของเมือง ที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

“เมกะซิตี้” โจทย์ใหญ่ทุกประเทศ

“Chris Barker” Founder of CBC-Global Transportation and Technology Consulting Firm เป็นอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนร่วมในหลายโครงการพัฒนาเมืองใหญ่ระดับโลก เปิดเผยว่า ประชากรทั่วโลกที่มีอยู่ 7 พันล้านคน จะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ในอีกไม่กี่ปีจากนี้ และ 68% อยู่ในเมือง และเมืองจะกลายเป็น “เมกะซิตี้” ที่มีประชากรอยู่รวมกันกว่า 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเทรนด์สำคัญที่ภาครัฐในทุกประเทศต้องเตรียมรับมือ

สู่เมืองที่น่าปรารถนา 

ความท้าทายของ “เมือง” ในยุคนี้ คือ การเป็นเมืองที่น่าปรารถนาของประชากรที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบาย การเข้าถึงที่อยู่อาศัย บริการสาธารณสุข การศึกษา บริการด้านพลังงาน ระบบคมนาคมที่สะดวก

“เมืองทั่วโลก มักจะสร้างมากว่า 30 ปีแล้ว การจะทำให้บริการต่าง ๆ ดีขึ้น นวัตกรรมจะมีบทบาทสำคัญ”

พลิกโฉม “บ้าน-การศึกษา”

ด้วยจำนวนคนที่มากขึ้น “บ้าน ที่ทุกคนจ่ายไหว” กลายเป็นโจทย์สำคัญ ซึ่ง “นวัตกรรม” ที่ทำให้เกิดการใช้พื้นที่คุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การใช้วัสดุเหลือใช้มาสร้างบ้าน การใช้วัสดุที่ราคาถูกลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บ้านที่เคลื่อนย้ายได้ ล้วนเป็นโมเดลที่ปรับและยืดหยุ่นเพื่อจะทำให้ทุกคนมีโอกาสซื้อบ้านได้ด้านการศึกษา “เทคโนโลยี” ได้ทำให้เกิดการยืดหยุ่นในการเรียนรู้ได้ตามพัฒนาการ และความสนใจเฉพาะ โดยไม่มีพรมแดน

“สถานศึกษาจึงจะไม่ใช่โรงเรียนที่สอนวิชาต่าง ๆ แต่จะเป็นที่ให้ทุกคนได้สร้างประสบการณ์ร่วมกัน เรียนรู้ในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ” 

ทั้งยังจะมีบทบาทสำคัญในด้าน “สาธารณสุข” ที่จะทำให้ถึงบริการทางการแพทย์ได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น อาทิ telemedicine หรือการใช้เพื่อป้องกันเชิงรุก ก่อนที่จะเกิดโรคต่าง ๆ

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ขณะที่ผลงานวิจัยคาดว่า “การใช้ไฟ” ของประชากรทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2593 รวมถึงอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น การแสวงหาพลังงานทดแทนที่จะมีเพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นความท้าทาย ซึ่งหลายประเทศได้เริ่มนำร่องแล้ว อาทิ สนามบินโคชิน ในตอนใต้ของอินเดีย ได้นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทั้งหมดแล้ว เคนยาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในระบบกรองน้ำ

รวมไปถึงความมุ่งมั่นของผู้ผลิตรถยนต์ที่จะพัฒนารถที่ใช้พลังงานอื่น นอกจากน้ำมันซึ่งสร้างมลพิษอย่างมาก อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าของ “เทสล่า” รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนของ “ฮุนได” 

สมาร์ทสตรีตรับมือถนนหด

ยุคนี้เป็นยุค “เศรษฐกิจของการเคลื่อนย้าย” ทำให้เกิดการขนส่งเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งอีคอมเมิร์ซบูม ยิ่งมีสิ่งของที่ต้องส่งมากขึ้นในระบบคมนาคมมากขึ้น จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนวิธีการ “เคลื่อนย้าย” อาทิ ในสหรัฐอเมริกา 50 รัฐ ได้พยายามทำสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการใช้โดรน และรถยนต์ไร้คนขับ ทั้งรัฐบาลยังให้ทุนส่งเสริม เปิดพื้นที่ทดลองนวัตกรรมขนส่งอัตโนมัติ เพื่อเตรียมพร้อมการขนส่งรูปแบบใหม่ รวมถึงการปรับแก้กฎระเบียบต่าง ๆ

“เป็นยุคที่ถนนหดลงเพราะรถใหญ่ขึ้น ทั้งด้วยขนาดและจำนวน ทำให้คนเดินเท้ามีพื้นที่น้อยลง จึงเป็นที่มาของการสร้างสมาร์ทสตรีต ให้พื้นที่คนเดินทาง รองรับระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งโมเดลรถรางของขอนแก่นเป็นโมเดลที่ดีมาก เพราะไอเดียเริ่มจากชุมชน ซึ่งระบบเหล่านี้จะสำเร็จได้ต่อเมื่อคนในชุมชนยอมใช้”

ต้องรอจังหวะเวลาของนวัตกรรม

ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจต้องก้าวให้ทัน เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ให้ทันเวลา แต่ไม่ใช่นวัตกรรมทุกอย่างที่ถูกหยิบไปใช้กับคนส่วนมาก

“สิ่งที่ต้องระวังคือ คนที่อาจจะตื่นเต้นจนเกินไป จนลืมว่าการจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา และโฟกัสกับผลลัพธ์ เพื่อสร้างสิ่งหนึ่งเพื่อคนจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพื่อคนคนหนึ่ง ทั้งทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นเหรียญที่มีสองด้าน ฉะนั้นอย่าตื่นเต้นเกินไป ต้องรอจังหวะเวลาของการเกิดขึ้นของนวัตกรรม” 

“สมาร์ท” แล้วชาวบ้านได้อะไร 

ด้าน “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด กล่าวว่า ขอนแก่นตั้งเป้าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกับความยากจน แต่ด้วยประชากรที่มีเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงต้องหาทางรองรับการเติบโต จึงเป็นที่มาของโครงการ “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” ซึ่งทุกภาคส่วนช่วยกันคิด และเอาข้อมูลที่หวงแหนมารวมกัน รวมถึงเริ่มต้นในการเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาเมืองมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อมูลปิดพอสมควร จะให้นำมาแชร์กันได้ต้องมีกฎหมายผลักดัน แต่ต้องทำเพราะข้อมูล ยิ่งใช้ ยิ่งคาดเดา ยิ่งวิเคราะห์ได้แม่นยำ”

ขณะเดียวกัน ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ของขอนแก่นไม่ได้อยู่ที่ “อำเภอเมือง” อย่างเดียว แต่ปัจจุบันได้เริ่มผลักดันแล้ว 26 แห่ง โดยใช้การรวบรวมข้อมูลพัฒนาต่อไปเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และหวังว่า “ขอนแก่น” อาจจะเป็นตัวอย่างที่ใช้การตัดสินใจด้วยดาต้าในการพัฒนาเมือง

“ที่จริงเราไม่ได้อยากทำรถราง แต่รถรางเป็นสิ่งเดียวที่เทศบาลขอนแก่นยังสามารถเป็นเจ้าของได้ และพยายามคิดตั้งแต่ 0-100”

โดยสูตรลับของจังหวัดขอนแก่น คือ การสร้างความเข้าใจ และการนำข้อมูลมาตอบสนองประชาชน ใช้เพื่อให้รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร แล้วทำสิ่งนั้น จึงจะได้ใจประชาชน

“ค่อย ๆ ให้ความรู้ว่า ถ้าเป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว ชาวบ้านได้อะไร ไม่ใช่ได้แต่หน้า แต่ชาวบ้านยังจนอยู่ ถ้าตรงนี้ชัดเจนถึงจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ วันนี้ประเทศต้องบริหารด้วยข้อมูล ไม่ใช่ผู้บริหารคิดเอง เออเอง

แสวงหาอนาคต 

ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น “ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล” ระบุว่า ขอนแก่นเป็นเมืองหลักของภาคอีสาน ได้ถูกวางเป็นสมาร์ทซิตี้ และมีเป้าหมายจะเป็นโกลบอลซิตี้ เพื่อให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีความสุข ความสบายใจ เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยในทรัพย์สิน มีความสะดวกสบายเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก เป็นเมืองที่ทุกคนจะเข้ามาแสวงหาอนาคต

ที่ผ่านมาเศรษฐกิจขอนแก่นโตเกินเป้าหมาย และยังจะมีโมเมนตัมใหม่ ๆ เข้ามา อาทิ ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะเป็นพื้นที่ทดสอบวิจัยทดลองเทคโนโลยี 5G ด้วย

“เมื่อเราอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เกิดการตึงเครียดค่อนข้างมาก ฉะนั้น สิ่งที่ต้องคิดคำนึง คือ จะรับมือกับกระแสดิจิทัลดิสรัปต์ที่เข้ามากดดันในทุกมิติได้อย่างไร”

ทุกวันนี้ “ความรู้” จึงจำเป็นอย่างมากในการปรับตัว ซึ่งรัฐบาลประกาศชัดเจนว่า ภาครัฐจะต้องมีส่วนสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มตัว ไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค