ทรูผนึกCPFปั้นสตาร์ตอัพ

แฟ้มภาพ

“ทรู อินคิวบ์” จับมือ RISE-CPF ลุยจับคู่สตาร์ตอัพ-องค์กรธุรกิจ ต่อยอดโครงการบ่มเพาะ เดินหน้าเฟ้นหานวัตกรรมเอไอ ไอโอที ฟินเทค มีเดียเทค อะกริเทค เสริมแกร่งธุรกิจทรู-CPF

นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ในแต่ละปีกลุ่มทรูมีงบฯลงทุนในสตาร์ตอัพที่ชนะในโครงการบ่มเพาะ True Incube Incubation & ScaleUp Program ราว 50 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันยังมี 20-30 รายที่ธุรกิจไปได้ดี ทั้งยังมีการลงทุนในสตาร์ตอัพที่อยู่นอกโครงการ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้

พร้อมกับเดินหน้าสนับสนุนและบ่มเพาะสตาร์ตอัพ ภายใต้โครงการ True Incube Incubation & ScaleUp Program ใน 4 แกน ได้แก่

1.inspire ผ่านโครงการ “ทรูแล็บ” ที่ตั้งใน 10 มหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยจะลงทุนในสตาร์ตอัพระดับมหาวิทยาลัยเริ่มต้น 50,000-100,000 บาท โดยปีนี้จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคมากขึ้น

2.innovate ช่วยพัฒนาสตาร์ตอัพให้มีคอร์เทคโนโลยี 3.incubation โดยบ่มเพาะสตาร์ตอัพผ่าน True Incube 4.invest ลงทุนในสตาร์ตอัพที่ผ่านการบ่มเพาะ เริ่มต้น 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังลงในสตาร์ตอัพที่น่าสนใจด้วย

สำหรับ True Incube Incubation & ScaleUp Program Batch 6 ได้ร่วมกับ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาช่วยบ่มเพาะเพื่อให้สตาร์ตอัพแข็งแรงพอจะมาทำงานร่วมกับองค์กร

ขณะที่ CPF บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร เป็นพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยตั้งโจทย์ปัญหา ให้คำแนะนำและคัดเลือกทีม รวมถึงพร้อมจะเข้าร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพที่เหมาะสมด้วย

โดยจะเปิดรับสตาร์ตอัพที่จดทะเบียนบริษัท และโฟกัสนวัตกรรมด้าน AI , big data, machine learning, IOT, robotics, FinTech, MediaTech, logistic, medical, AgriTech FoodTech เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มทรู และพาร์ตเนอร์อย่าง CPF ซึ่งสตาร์ตอัพที่ผ่านการคัดเลือก 5 ทีมสุดท้าย จะได้เข้าอบรมแบบเข้มข้น เงินลงทุนเริ่มต้น พร้อมโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมจากทรูและพันธมิตร

สำหรับสตาร์ตอัพที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องสร้างสิ่งที่ตลาดต้องการและหาวิธีให้โตเร็ว

“การยืนบนไหล่ยักษ์ จะยิ่งช่วยให้โตเร็ว ครั้งนี้จึงจะแมตชิ่งกับธุรกิจตั้งแต่แรก โดยทรูไม่ได้กำหนดว่าจะต้องใช้เวลาแค่ไหนถึงจะมาปลั๊กอินกับทรูได้ อยู่ที่ความพร้อม”


ขณะภาพรวมสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่อยู่ระดับเออร์ลี่สเตจ แต่ถือว่ามีคุณภาพดีขึ้นมาก มีความตั้งใจทำธุรกิจจริง ไม่เหมือนช่วง 2-3 ปีก่อนที่เกิดฟองสบู่ ที่มีสตาร์ตอัพที่เกิดจากกระแสงานอีเวนต์ ดังนั้น สตาร์ตอัพไทยมีโอกาสเป็นยูนิคอร์นแน่นอน และอาจเป็นสตาร์ตอัพที่ทรูได้ลงทุนแล้ว แต่อาจอาศัยเวลา