5G รุ่ง-ร่วง “คลื่นความถี่” ชี้ชะตา

ยอดการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุด “เซบาสเตียน โลฮอง” ผู้อำนวยการ บริษัท โนเกีย ประจำประเทศไทย ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่การเชื่อมต่อไร้สายสูงที่สุด มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 133% ของประชากร ทั้งรัฐบาลยังมุ่งจะผลักดันให้เปิดใช้เทคโนโลยี 5G ภายในปี 2563

แต่การจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากแรงผลักดันของรัฐบาลแล้ว “กสทช.” สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ยังต้องประกาศแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่รองรับบริการ 5G เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องมีคลื่นความถี่เฉพาะเพื่อรองรับจำนวนมาก ทั้งสำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ และระบบความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งต้องผสมผสานกันระหว่างคลื่นความถี่ต่ำ-กลาง-สูง โดยเฉพาะย่าน 2600 MHz 3500 MHz และ 26-28 GHz ที่สำคัญคือ ต้องร่วมผลักดันด้านการวิจัยและพัฒนาหาโซลูชั่นที่จะนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง

สำหรับโซลูชั่นที่เหมาะกับประเทศไทย โนเกียมองว่าคือการบูรณาการระบบการปฏิบัติงานโดยใช้ดาต้าและออโตเมชั่น ไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม การตรวจจับ-เก็บข้อมูลอย่างเรียลไทม์และวิเคราะห์ด้วย AI

“ในปี 2568 เอเชีย-แปซิฟิกจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญของการลงทุน 5G โดยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกว่า 160 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปริมาณข้อมูลบนโครงข่าย 15% จะเป็น 5G” 

ทั้งยังทำให้เกิดตลาดใหม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน ไม่ใช่แค่บริการบรอดแบนด์ แต่จะรองรับการเชื่อมต่อทั้งในการทำงานและภายในบ้าน อาทิ การเชื่อมต่อให้เป็นสมาร์ทสเตเดียมในการแข่งขันกีฬา ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชมการแข่งขันกีฬา ด้วยการใช้ศักยภาพในการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว เสถียรและหน่วงต่ำ ซึ่งยังใช้ประโยชน์นี้ได้ในการสร้างระบบจราจรอัจฉริยะ ระบบรักษาความปลอดภัย ในการตรวจจับและแจ้งเตือนอย่างเรียลไทม์ การใช้ประโยชน์จากโดรน รวมไปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์