ช้าเร็วไม่สำคัญเท่าทั่วถึง มุมมอง 5G “ไอทียู”

สัมภาษณ์

เป็นอีกองค์กรที่ทำงานกับ “กสทช.” อย่างใกล้ชิด ล่าสุดได้ร่วมหารือถึงแนวทางการผลักดัน 5G ในไทย “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดมุมมองของเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) “Houlin Zhao”

Q : การขับเคลื่อน 5G ของไทย 

เห็นด้วยอย่างมากที่ไทยมีนโยบายที่จะเร่งขับเคลื่อน 5G อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่เริ่มมีการทดสอบทดลองบริการร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ซึ่งในหลายประเทศก็กำลังดำเนินการเช่นกัน บางประเทศให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว และจะทยอยเปิดในอีกหลายแห่งทั่วโลก

สิ่งที่อยากเห็นก็คือการทดสอบทดลองบริการในแต่ละที่ น่าจะแชร์ข้อมูลกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อจะได้เห็นถึงการนำไปใช้ต่อยอดได้ และไอทียู กำลังจัดทำมาตรฐานแถบช่วงคลื่นความถี่สำหรับ 5G ซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ในปลายปีนี้

Q : 5G คืบหน้าไปมาก

เราตั้งใจที่จะช่วยประเทศต่าง ๆ วางกรอบแนวทางในการขยายและพัฒนาบริการ โดยต้องการที่จะทำให้การใช้งาน 5G มีสัดส่วน 20-30% ของจำนวนคนใช้มือถือทั่วโลกภายในปี 2566

Q : ผลกระทบถ้าไทยช้ากว่าคนอื่น 

ตอนนี้แต่ละประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับ 5G อย่างมาก อย่างเกาหลีใต้และอเมริกาก็จะมีการให้บริการ 5G ในปีนี้

แต่ก็ไม่ควรมองเรื่องการจะเปิดช้าหรือเร็วเป็นเรื่องหลัก ควรคำนึงถึงการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึงมากกว่า เพราะในบางประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ พื้นที่ในเมืองมีบริการให้ใช้งาน แต่นอกเมืองไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือให้ใช้ ดังนั้นควรคำนึงถึงการให้ทุกคนเชื่อมต่อกันได้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าสู่การใช้งาน จึงควรรอให้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการเดินไปด้วยกัน

เพราะการพัฒนาเข้าสู่ 5G จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ ทำให้ทุกประเทศอยากผลักดัน แต่จะผลักดันได้ก่อนหรือหลังขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ

Q : บทบาทเรื่องราคาคลื่นและอุปกรณ์ 

เรื่องราคาและโมเดลในการจัดสรรคลื่นขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะออกแบบอย่างไร บางแห่งอาจกำหนดราคาตั้งต้นคลื่นเพื่อการประมูล บางแห่งอาจใช้วิธีการคัดเลือกแบบบิวตี้คอนเทสต์

แต่สิ่งหนึ่งที่คนมักจะเข้าใจผิดก็คือ ที่ต้องให้โอเปอเรเตอร์เข้าประมูล เพื่อให้ได้เงินเข้ารัฐเยอะ ๆ แต่จริง ๆ แล้ว โอเปอเรเตอร์ยังต้องลงทุนอีกจำนวนมาก เพื่อให้เปิดบริการ 5G ได้

Q : การเก็บส่วนแบ่งรายได้จาก OTT 

ไอทียูมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือในเรื่องนี้ โดยเชิญตัวแทนจาก Facebook และ OTT (ผู้ให้บริการคอนเทนต์ออนไลน์) และโอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมมาคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งโอเปอเรเตอร์มักจะพูดเสมอว่า ตนเองเสียประโยชน์ ขณะที่ OTT ก็บอกว่า เขาก็ต้องลงทุนเช่นกัน


ฉะนั้นแม้จะมีการตั้งคณะทำงานก็ยังหาความตกลงร่วมกันได้แค่ 70% จึงเห็นด้วยที่ไทยมีการหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องนี้