IBM จับมือศุลกากรใช้บล็อกเชนลดเวลานำเข้าส่งออก

ไอบีเอ็มดึงบล็อกเชนเสริมแกร่งส่งออกไทย จับมือกรมศุลกากร ใช้แพลตฟอร์ม TradeLens ลดขั้นตอนนำเข้า-ส่งออก พร้อมเดินหน้าหาพาร์ตเนอร์โครงการ “P-TECH” พัฒนาปั้นคนพันธุ์ดิจิทัลป้อนอุตสาหกรรม

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับกรมศุลกากรนำแพลตฟอร์มบล็อกเชน “TradeLens” อำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศมาให้บริการในไทยเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน”90% ของสินค้าที่ส่งจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งต้องใช้เอกสารกว่า 200 ฉบับ และใช้คนกว่า 300 คน ในการจัดการ มีทัชพอยต์ถึง 7 จุด บล็อกเชนจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดกระดาษ สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเมื่อไทยนำมาใช้ จะทำให้ต่างชาติอยากทำธุรกิจร่วมกับเรา”

โดย TradeLens สามารถแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ใช้แพลตฟอร์มได้ตั้งแต่ออกจากท่าเรือ ปัจจุบันมีบริษัทเดินเรือกว่า 100 บริษัท รวมทั้งบริษัทขนส่ง Top 10 ของโลก ได้เข้าร่วมแพลตฟอร์ม

ด้านนายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ศุลกากร กรมศุลกากร กล่าวว่า การใช้เทรดเลนส์ จะช่วยเก็บข้อมูล ป้องกันสินค้าผิดกฎหมาย และคำนวณภาษีได้แม่นยำ

“เราสามารถให้เป็นกรีนไลน์ได้เลยตั้งแต่เรือออกจากท่า และต่อไปสามารถนำบล็อกเชนของแบงก์มาต่อได้ ก็จะสะดวกเรื่องการทำประกันมูลค่าสินค้า บล็อกเชนจะช่วยต่อยอดได้อีกมาก”

จากการนำร่อง 1 ปี ช่วยให้ด่านตรวจเรือที่ต้องใช้เวลาพิจารณาเอกสารประมาณ 3 นาที เหลือเพียง 30 วินาที/ลำ ซึ่งแต่ละปีมีเรือเทียบท่าประมาณ 7 ล้านลำ และคาดว่าอีก 3 เดือน จะเริ่มใช้ระบบที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อสำเร็จจะกลับมาที่ท่าเรือกรุงเทพต่อ ส่วนการขยายไปใช้กับการขนส่งช่องทางอื่น ๆ เช่น เครื่องบิน คงไม่มีแผนที่จะใช้ เพราะ 80% ของการส่งสินค้ามาทางเรือ อย่างไรก็ตาม ทางไอบีเอ็มยังไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่อนาคตมีแผนที่จะลงทุน

“ถ้าอินวอยซ์ไม่ตรงกับสินค้าจริง ก็จะตรวจสอบได้ การปลอมแปลงเอกสารระหว่างทางทำไม่ได้ ด้วยบล็อกเชน เราใช้แค่ทางเรืออย่างเดียว แม้จะป้องกันของหนีภาษีคงไม่ได้ 100% แต่เชื่อว่าจะลดลง รวมทั้งช่วยให้เก็บภาษีได้ดีขึ้นแน่นอน”

และนอกจากความร่วมมือกับกรมศุลกากรแล้ว IBM ได้ประกาศความร่วมมือกับ “เอไอเอส” และ “ไมเนอร์” สร้างบุคลากรรองรับ “ตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญา” ผ่านโมเดลการศึกษา P-TECH ที่ร่วมกับ “กระทรวงศึกษาธิการ”

เบื้องต้นโครงการ P-TECH จะเริ่มในปีการศึกษา 2563 ในรูปแบบโปรแกรมการเรียน 5 ปี และเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากไอบีเอ็มและพันธมิตรภาคธุรกิจที่เข้าร่วม ทั้งในแง่การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้านไอที และด้านธุรกิจจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งได้เยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง และเมื่อจบหลักสูตรมีโอกาสในการได้รับการพิจารณาเข้าทำงานเป็นอันดับแรก ๆ

“ไอบีเอ็มเริ่มดำเนินโครงการ P-TECH มาตั้งแต่ปี 2554 ใน 19 ประเทศทั่วโลก เพื่อเพิ่มแรงงานที่ตรงตามความต้องการขององค์กร ก่อนที่จะเรียนจบ โดยได้องค์กรมาช่วยออกแบบหลักสูตรและสอน เพื่อให้มีทักษะตรงตามความต้องการ อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูล อะนาไลติกส์ ดีไซน์ทิงกิ้ง อไจล์ การสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น ภาวะผู้นำ”


อย่างไรก็ตาม ไอบีเอ็มไม่ได้ตั้งเป้าด้านจำนวนของบุคลากรที่ผลิตได้ในแต่ละปี แต่ตั้งเป้าจะเพิ่มพันธมิตรเป็น 10 ราย และขยายไปใน 10 โรงเรียนทั่วประเทศภายในปีนี้