“ไทยคม” New S-curve สลัดปมสัมปทานฝ่าวิกฤต “ขาลง”

สัมภาษณ์

เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่โดนมรสุมทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาลสำหรับ “ไทยคม” ล่าสุดผลประกอบการครึ่งปีก็ยังมีรายได้ลดลง ขณะที่การจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ก็ยังอยู่ในช่วงสุญญากาศ ทั้งสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2564 แต่ข้อพิพาทกับกระทรวงดิจิทัลฯ เจ้าของสัมปทานก็ทำท่าจะยืดเยื้อ มองไปข้างหน้าธุรกิจดูอึมครึม แต่ “อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม กลับมองต่างออกไป

Q : ธุรกิจดูมืดมนมาก

ชัดเจนขึ้นแล้ว มีมติ ครม.ชัดเจนให้ทำ PPP จัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัมปทาน และให้ กสทช. ดูแลดาวเทียมส่วนไทยคม 7-8 จะเป็นดาวเทียมในหรือนอกสัมปทาน ไม่ใช่เรื่องทะเลาะกัน เป็นปกติที่คู่สัญญากับรัฐ ต้องการคนตัดสิน

Q : ปมสัดส่วนหุ้น “อินทัช” ในไทยคม

เป็นเรื่องของอินทัช ไทยคมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่สัมปทานก็เหลืออีกแค่ 2 ปีนะ

Q : จะยิงดาวเทียมใหม่

ถ้าจะขอยิงดาวเทียมใหม่ แล้วใช้วงโคจรไทย ยังต้องรอทาง กสทช. ซึ่งธุรกิจจะรอไม่ได้ ตอนนี้เราก็ไปใช้วงโคจรของต่างประเทศ จับมือกับพาร์ตเนอร์สร้างดาวเทียมดวงใหม่ พื้นที่ให้บริการคือในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ นี่คือแผนระยะสั้น อีก 3 ปีก็ยิงขึ้นสู่วงโคจรได้ แต่ในระยะยาว ถ้า กสทช.ชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันใหม่

Q : อีก 2 ปีสัมปทานหมด

ก็พยายามสื่อสารไปยังภาครัฐว่า ถ้า PPP ช้า ก็จะมีผลนะ เพราะหมดสัญญาปุ๊บเราต้องกระโดดออกปั๊บ เราก็โอเพ่นนะ แต่จะหาคนอื่นมาบริหารต่อก็ไม่ง่าย เพราะหลังสัมปทานจะมีอายุใช้งานอีกไม่มากนัก

Q : ธุรกิจดาวเทียมเป็นขาลง

ไม่ปฏิเสธ แต่ในอีกมิติหนึ่งก็จะมีธุรกิจใหม่ ๆ เช่น เทรนด์ดาวเทียมวงโคจรต่ำที่ยิงทีเป็นร้อยดวงเพื่อให้บริการบรอดแบนด์ อย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา ก็ยังมีดีมานด์

ขณะที่ดาวเทียมพวกนี้ หากจะเข้ามาให้บริการในไทยก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งก็คือต้องมีีพาร์ตเนอร์ไทย ก็เป็นโอกาสของเรา

ในต่างประเทศธุรกิจดาวเทียมได้เปลี่ยนรูปไปแล้ว ไม่ใช่แค่ให้บริการทีวีหรืออินเทอร์เน็ต แต่มีหลายแอปพลิเคชั่นในการใช้ดาวเทียม ใช้เพื่อการบริหารภาครัฐ ใช้บริหารจัดการน้ำ การสำรวจต่าง ๆ มีฟังก์ชั่นอีกมาก อย่างโปรเจ็กต์ดาวเทียมสำหรับบิ๊กดาต้า ซึ่งถ้าภาครัฐอยากทำ ไทยคมก็ทำให้ได้ และก็เป็นที่ปรึกษาให้หลายประเทศแล้ว

ฉะนั้นถ้าจะบอกว่า ดาวเทียมขาลงก็คือในส่วนของคอมเมอร์เชียล แต่ถ้าในส่วนที่ใช้เพื่อบิ๊กดาต้ามันเป็นขาขึ้น ที่มีเยอะมาก ซึ่งเราก็บริหารจัดการความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน

Q : เปิดบริษัทลูก Thai AI

รองรับ new S-curve อย่างตอนนี้ที่มาแรงมากคือ อากาศยานไร้คนขับ UAV พวกนี้เป็นกลุ่มที่สร้างดาวเทียมอยู่ด้วย และจำเป็นต้องมีคอนโทรลโอเปอเรชั่นด้วย ซึ่งมีโครงการภาครัฐเปิดประมูลแล้ว เช่น การทำสำรวจ การทำแผนที่ งานด้านความมั่นคง งานก่อสร้างต่าง ๆ และถึงจะมีคู่แข่งสุดท้ายก็ต้องไปสู้กันเรื่องเซอร์วิส ส่วนตลาดเอกชนก็รอกฎระเบียบออกก็ทำตลาดได้เลย

Q : จะไม่ใช่บริษัทดาวเทียมแล้ว

ยังมีธุรกิจดาวเทียมและยังเป็นรายได้หลัก แค่แยกบริษัทลูกที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เดี๋ยวจะมี Blockchain as a service มีไซเบอร์ซีเคียวริตี้ มีดิจิทัลแพลตฟอร์มเซอร์วิส หรืออย่างโดรนเพื่อการเกษตร เป็น Drone as a service

Q : แต่ละบริการมีคู่แข่งทำตลาดเยอะ

ก็คอยดูกัน เพราะไทยคมเป็นบริการแบบครบวงจรจริง ๆ ตั้งแต่โอเปอเรชั่นไปจนถึงเมนเทอแนนซ์ เบ็ดเสร็จทั่วประเทศ และอย่างโดรนเราจะทำราคาให้เกษตรกรจับต้องได้จริง ๆ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าที่เกษตรกรใช้วิธีเดิม ๆ ด้วยการดีไซน์อุปกรณ์และฟังก์ชั่นให้ฟิตตามต้องการ เดี๋ยวจะเปิดตัวแบรนด์เร็ว ๆ นี้

Q : จะแปลงรูปเป็นบริษัทโฮลดิ้ง

ยังไม่ถึงขั้นนั้น ตอนนี้ธุรกิจขาลงก็ต้องมีความเพียรสูง ปูพรมไปก่อน 10 new S-curve เพราะรู้ว่านวัตกรรมใหม่มันต้องมีรุ่งบ้างร่วงบ้าง ก็หว่าน ๆ ไปก่อน รายได้ new S-curve ต้องรอหลังจาก 5 ปีไปแล้ว แต่ UAV น่าจะไปได้ดี

Q : สิ่งที่ท้าทาย

การทรานส์ฟอร์มคน ถอดเครื่องหมายคำถามของแต่ละคนออกไปก่อนเพื่อไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ

Q : ปมการเมืองคนยังติดภาพอยู่ 

ไม่มีนะ ผมว่าไม่แล้ว และเราไม่มีปัญหากับกระทรวง กับ กสทช.

Q : แคทจะมาซื้อ

อันนี้ไม่ทราบ ใครจะมาซื้อ ใครจะขาย เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น เรื่องของผมเป็นเรื่องทำธุรกิจที่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์

Q : กสทช.จะเปิดให้ใช้วงโคจรได้

วงโคจรของไทยที่มี value คือที่ไทยคมใช้อยู่ ส่วนที่เหลือถ้าเปิดให้ยื่นขอใช้ได้ ไทยคมก็คงไม่เข้า

Q : จะมีดาวเทียมไทยคม 9


ก็สุดแล้วแต่รัฐบาล ว่านามพระราชทานไทยคม สำหรับดาวเทียมสื่อสารของไทย จะให้มีการสืบต่อหรือไม่ แล้วจะอนุญาตให้ใครใช้อะไรอย่างไรต่อไป