ปรับเบอร์บ้าน 10 หลักวุ่น กสทช.ชง “บอร์ดดีอี” บี้TOT

photos : pixabay

อัพเกรดระบบปรับเบอร์บ้านเป็น 10 หลัก ส่อเค้าวุ่น “กสทช.” เตรียมทวงถามบอร์ดดีอี เคาะฟันธงแก้ปัญหา “ทีโอที” ขาดงบประมาณปรับระบบใหม่ไม่ทัน 1 ม.ค. 2564 ตามที่แจ้ง ITU

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้บอร์ดพิจารณา

ความคืบหน้าการปรับปรุงโครงข่ายเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ (fixed line) ของ บมจ.ทีโอที ให้รองรับการเพิ่มจากจำนวนเลขหมายจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ตามมติบอร์ดดีอี เมื่อ 6 ก.ย. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 ธ.ค. 2560 ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บมจ.ทีโอที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับโครงข่ายให้พร้อมรองรับการให้บริการเลขหมาย 10 หลัก ตามแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาวของประเทศไทย ภายใน 1 ม.ค. 2564

สาเหตุที่ต้องปรับปรุงเลขหมายให้เป็น 10 หลักเท่ากัน เพราะมีมติของบอร์ดดีอี และนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการให้จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์ประจำที่มีจำนวนหลักต่างกัน และทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์เพียงพอกับการใช้งาน

“กสทช.ได้แจ้งไปยัง ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) หากทีโอทีทำไม่ทัน ก็ต้องให้บอร์ดดีอีตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ เพราะเท่าที่ทราบคือ ทีโอทียังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน ฉะนั้นจึงไม่น่าจะปรับปรุงโครงข่ายได้ทันกำหนด”

สำหรับทางออกของปัญหานี้ มี 2 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าตามแผนเลขหมายโทรคมนาคม ตามกำหนดระยะเวลาเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการทุกรายได้ปรับปรุงระบบพร้อมหมดแล้ว ซึ่งก็จะมีผลให้ลูกค้า fixed line ของทีโอที ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์เดิมได้อีก กับ 2.ให้บอร์ดดีอีมีมติยืดเวลาเริ่มต้นแผนเลขหมายออกไปอีก 1 ปี

“ถ้าเดินหน้าตามกำหนดเดิม ลูกค้าทีโอทีจะใช้งานโทรศัพท์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันก็มีสินค้าทดแทนอย่างสมบูรณ์แล้วก็คือ การใช้มือถือแทน ซึ่งลูกค้าองค์กรก็สามารถเพิ่มอุปกรณ์ในตู้ชุมสายเพื่อให้รองรับซิมการ์ดมือถือได้ หรือหากบอร์ดดีอีจะยืดเวลาออกไปอีก 1 ปี ก็ต้องรีบแจ้ง ITU ใหม่ ซึ่งจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเลขหมายโทรคมนาคมยังเหลือราว 60 ล้านเบอร์ เพียงพอใช้งานอีก 1 ปี”

แต่ถ้าเริ่มเปิดให้บริการ 5G แล้วก็จะเริ่มเสี่ยงกับการขาดแคลนเลขหมาย ซึ่งจะกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ


“เรื่องเลขหมายจะต้องทำล่วงหน้า 2-3 ปี เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ต้องประสานกับต่างประเทศด้วย”