สัมปทาน “จบ” ปัญหาไม่จบ ปมประกาศเยียวยา 3 แสนล้าน

แม้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันได้ให้บริการภายใต้ “ใบอนุญาต” ที่ได้รับจาก “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเริ่มเห็นการเจรจาระหว่างคู่สัมปทานมือถือในอดีตเพื่อยุติข้อพิพาท อาทิ กรณีของ “ดีแทค” ที่ระงับข้อพิพาทกับ “กสท โทรคมนาคม” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการยอมจ่ายค่าตอบแทน 9,510 ล้านบาท หรือ “เอไอเอส” ยอมยุติข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมตามสัมปทาน ด้วยการทำสัญญาเช่าใช้เป็นเวลา 10 ปี มูลค่าราว 28,000 ล้านบาท

พิพาท 3 แสนล้าน

แต่ยังมีข้อพิพาทที่เกิดจากสัมปทานอีกมากที่ยังไม่ได้ข้อยุติ แค่เฉพาะข้อพิพาทที่เกิดจากประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ประกาศเยียวยา) พบว่า มีมูลค่าคดีพิพาทกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งที่ กสทช.ฟ้องโอเปอเรเตอร์ และโอเปอเรเตอร์ รวมถึงเจ้าของสัมปทานฟ้อง กสทช.

โดยหนึ่งนั้น คือ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ยื่นฟ้อง กสทช. เนื่องจากได้รับความเสียหายจากประกาศเยียวยา ทำให้แคทไม่ได้รับโอนผู้ใช้บริการตามสัมปทานจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งศาลปกครองอ่านคำพิพากษา 11 ก.ย. 2562

6 ปีผ่านไป เงินยังไม่เข้าคลัง

แหล่งข่าวภายใน กสทช.เปิดเผยว่าประกาศเยียวยา กสทช.ตั้งใจจะใช้คุ้มครองผู้บริโภค จึงให้โอเปอเรเตอร์เปิดระบบให้บริการต่อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ย้ายค่ายทัน ส่วนเงินรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วนำส่งเข้ากระทรวงการคลัง แต่ปรากฏว่า สัมปทานของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด บริษัท ดิจิตอลโฟน (ดีพีซี) สิ้นสุดตั้งแต่ ก.ย. 2556 แต่ก็ยังเรียกเก็บเงินไม่ได้

“ปัญหาคือสัมปทานของทรูมูฟ และดีพีซี มีช่วงเวลาเยียวยานานกว่าที่คาดกันไว้คือ ตั้งแต่ ก.ย. 2556 ถึง ธ.ค. 2558 ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักออกจากรายได้ ทั้งฝั่ง กสทช. คณะทำงานที่ตั้งขึ้น และเอกชนผู้รับสัมปทานก็คำนวณไม่ตรงกัน แม้แต่ผู้ให้สัมปทานก็ไม่พอใจกับค่าเช่าโครงข่ายในช่วงเยียวยาที่กสทช.ตัดสินใจให้ จึงเป็นข้อพิพาทไปที่ศาลปกครอง และมีการแก้ประกาศเยียวยาฉบับใหม่ เพื่อหวังว่าจะยุติข้อพิพาท โดยกำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องนำส่งรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงการเยียวยาลูกค้าไม่น้อยกว่าส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานปีสุดท้าย แต่สุดท้ายก็ยังมีข้อพิพาทเกิดขึ้นอยู่ดี”

เนื่องจาก “เอไอเอส” บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกที่ใช้เงื่อนไขตามประกาศเยียวยาฉบับที่ 2 ก็ยังสรุปตัวเลขค่าใช้จ่ายช่วงเวลายาวระหว่าง 1 ต.ค. 2558-30 มิ.ย. 2559 ไม่ตรงกับที่ กสทช.กำหนด จึงได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า ประกาศเยียวยาฉบับที่ 2 ที่ กสทช.ประกาศใช้ และมีบังคับกับการสิ้นสุดสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ “เอไอเอส” ได้รับสัมปทานจาก “ทีโอที” นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้ “เอไอเอส” ต้องนำส่งรายได้บางส่วนให้ตกเป็นรายได้ของแผ่นดิน เป็นการสร้างภาระเกินสมควร

สตง.ทวงหมื่นล้าน

“สรุปแล้วประกาศเยียวยาเรียกเก็บเงินได้แค่จากดีแทค 603 ล้านบาท ที่ดีแทคนำมาวางประกันไว้ให้ กสทช. ตอนที่ต่อรองจะประมูลคลื่นรอบใหม่เมื่อ เม.ย. 2562 แต่ก็เป็นแค่ยอดขั้นต่ำทั้งหมดของช่วงเยียวยาตั้งแต่ 16 ก.ย.-15 ธ.ค. 2561 ซึ่งคณะทำงานกำลังเตรียมจะเสนอตัวเลขทั้งหมดเข้าบอร์ด กสทช.เร็ว ๆ นี้ ก็พยายามรีบทำเพราะ สตง.ก็ทวงเรื่องเงินที่จะต้องส่งเข้าคลัง แต่คงไม่จบในเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งออกมาในทางใด คู่กรณีก็ต้องยื่นอุทธรณ์อยู่ดี”

แคทฟ้องเรียก 2.9 แสนล้าน

สำหรับข้อพิพาทจากประกาศเยียวยา สามารถจำแนกได้ดังนี้ 1.กรณีที่ กสทช.ยื่นฟ้องผู้รับสัมปทานให้นำเงินรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเยียวยาส่งเข้ากระทรวงการคลัง แต่ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดยอมจ่าย กสทช.จึงต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยฟ้องเรียกจาก “เอไอเอส” 7,221 ล้านบาท เรียกจาก “ทรูมูฟ” 3,381 ล้านบาท เรียกจาก “ดีพีซี” 869 ล้านบาท

ขณะที่ “แคท” ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ได้ยื่นฟ้องทั้ง กสทช. ทรูมูฟ และดีพีซี เรียกให้ร่วมกันชำระค่าใช้โครงข่ายในช่วงเวลาเยียวยาผู้บริโภค รวมทุนทรัพย์ 24,117 ล้านบาท และยื่นฟ้อง กสทช. เพื่อเพิกถอนประกาศ รวมทุนทรัพย์ 275,658.36 ล้านบาท

ส่วน “ทีโอที” ยื่นฟ้อง “เอไอเอส” ให้จ่ายค่าใช้บริการพื้นที่ ค่าเช่าอุปกรณ์ทรัพย์สิน จากการใช้งานในช่วงเยียวยา 171 ล้านบาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : AIS เฮ! ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนประกาศ “กสทช.”บังคับส่งรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่าสัมปทาน