“ผู้บริโภค” พร้อม Face Recognition มาแน่ !

ปัจจุบัน เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (face recognition) เป็นสิ่งใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น สมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นใหม่ ๆ พร้อมรองรับ แต่สังคมไทยจะพร้อมใช้และจะได้ใช้เมื่อไร

“รุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ผู้ให้บริการชำระเงินและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “ดอลฟิน วอลเลต” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทคโนโลยี face recognition พร้อมจะใช้งานกับการทำธุรกรรมการเงินแล้ว อาทิ การเปิดบัญชีธนาคาร แม้แต่จะใช้เป็น “face pay” ซึ่งในช่วงที่เปิดตัวบริษัทก็ได้นำเทคโนโลยีนี้มาโชว์ แต่การจะนำมาใช้อย่างจริงจังนั้นยังมีอุปสรรคสำคัญคือ “ต้นทุนที่สูงมาก” โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ฝั่งร้านค้าหรือผู้รับชำระเงินจะต้องใช้

“เทคโนโลยีตอนนี้พร้อม อย่างที่กังวลว่าจะนำรูปถ่ายหรือวิดีโอมาใช้สแกนแทนตัวจริง เทคโนโลยีก็ตรวจจับ frame rate และ liveness detection ได้ว่าสแกนจากมนุษย์จริง แต่ตัวเครื่องที่ใช้ตรวจจับตอนนี้ยังแพงมาก และปัจจุบันการจ่ายเงินด้วย QR code ก็มีต้นทุนที่ถูกมาก จึงถูกใช้อย่างแพร่หลาย ฉะนั้นโจทย์คือ ต้องหาโซลูชั่นให้จุดรับชำระเงินต้องลงทุนไม่เกิน 6,000 บาท เท่ากับที่เขาใช้เครื่องรูดบัตร EDC มองว่าในประเทศไทยน่าจะเริ่มใช้จริงจังภายใน 5 ปีนี้”

ขณะที่เวทีเสวนา NECTEC-ACE 2019 “วิจิตรเลขา มารมย์” รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การใช้ใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาในแง่ของประโยชน์และความเป็นส่วนตัวของลูกค้า

“แบงก์ชาติส่งเสริมให้ผู้ให้บริการได้นำไปใช้ โดยมี sandbox ให้ได้นำนวัตกรรมไบโอเมตริกหรือระบบจดจำใบหน้ามาทดลองใช้กับลูกค้าในวงจำกัด ซึ่งยูสเคสในปัจจุบันของไทยคือ ใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งจะเชื่อมกับระบบของกรมการปกครอง รวมถึงตรวจสอบบัตรประชาชน เพื่อให้มีความแม่นยำมากที่สุด ส่วนการใช้งาน face pay หรือชำระเงินด้วยการยืนยันด้วยหน้าจะเป็นเฟสต่อไปในการใช้งาน ซึ่งจะต้องใช้ 2 เครื่องมือในการยืนยันตัวตนเพื่อลดความเสี่ยง เช่น ใช้ใบหน้าแล้วอาจจะต้องกดรหัสยืนยันอีก”

ที่สำคัญคือ ในกระบวนการทำงานต้องอิงกับหลักสากล และมีนโยบายดูแลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับข้อมูลอย่างรัดกุมที่สุด เพราะไบโอเมตริกเป็นข้อมูลที่เปลี่ยนไม่ได้

“ลูกค้ามีสิทธิที่จะรับรู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร และเลือกได้ว่าจะยินยอมหรือไม่ ซึ่งการไม่ยินยอมต้องไม่ทำให้เกิดการปฏิเสธในการให้บริการ และต้องมีช่องทางในการร้องเรียนและมีสิทธิในการรับการเยียวยา ที่สำคัญคือ ข้อมูลต้องมีการเข้ารหัส รวมถึงฝั่งผู้ใช้งานเองก็ต้องใส่ใจในการอ่านข้อตกลงเพื่อบริหารความเสี่ยงของตัวเอง ไม่ใช่กดยอมรับ ๆ อย่างเดียว ในส่วนของแบงก์ชาติก็ต้องดูแลให้ผู้ให้บริการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเข้าใจง่ายแก่ผู้บริโภค”

ด้านหัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) “ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์” กล่าวว่า ในเชิงเทคนิคแล้วการใช้ใบหน้ามีความแม่นยำต่ำที่สุด ถ้าเทียบกับวิธีอื่น ๆ เพราะถ้าฝาแฝดมีการศัลยกรรมใบหน้าใหม่ หรือใช้ 3D printing ก็สามารถหลอกได้ จึงต้องเติมปัจจัยอื่น ๆ เช่น สถานที่, อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อยืนยันอีกชั้น

ขณะเดียวกันเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบังคับใช้แล้ว การจะเก็บข้อมูลจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน

“face recognition จะช่วยในด้านความมั่นคงปลอดภัยได้ อย่างการยืนยันตัวตนจะช่วยให้การทำงานของตำรวจ โดยประชาชนทั่วไปไม่ได้รับผลกระทบเลย ถ้าไม่ได้เป็นคนร้าย ในมุมธุรกิจการจะทำให้ลูกค้ายอมรับได้คือ ต้องมีความโปร่งใสในการนำข้อมูลไปใช้งานและให้สิทธิลูกค้าเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้บริการ ซึ่ง ณ เวลานี้ในไทยพร้อมทางเทคนิคแล้ว เหลือแต่การยอมรับจากผู้ใช้บริการ”