เน็ตประชารัฐ-ดาวเทียม “กสทช.” ส่งต่อ “ดีอี”

นับเป็นนิมิตหมายอันดีเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้หารือกับ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดย “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รัฐมนตรีดีอี ระบุว่า งานแรก ๆ ที่จะเร่งดำเนินการหลังจากได้รับฟังถึงกรอบการทำงานของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับดีอี คือ การเร่งแก้ไขปัญหาโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ที่ดีอีได้ดำเนินการ กับ “USO net” ที่เป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกลของ กสทช. ที่จะต้องมีการทบทวนแนวทางบริหารจัดการและบำรุงรักษา โดยเฉพาะในระยะยาวที่จะทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากทั้ง 2 โครงการยังมีรูปแบบแตกต่างกันอยู่

“จะเชิญ บมจ.ทีโอที มาคุยว่าจะทำอย่างไรต่อไปได้ และในอีก 10,000 จุด ที่ดีอีต้องการจะขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มควรจะทำอย่างไร ซึ่งเน็ตประชารัฐเดิมจะเป็นการของบประมาณปีต่อปี ก็มองว่าควรจะทำเป็นระยะยาว 5 ปี-10 ปีมากกว่า”

ส่วนข้อกังวลมากที่สุด คือ เรื่องการจัดการกับดาวเทียมไทยคม หลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งมติ ครม.กำหนดให้ต้องเปิดร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP : public private partnership) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำอย่างรอบคอบและรวดเร็ว จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ฟาก “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ปัญหาของโครงการ USO net คือ การส่งมอบโครงการในส่วนที่ “ทีโอที” ดำเนินการ เพราะในพื้นที่ตามความรับผิดชอบเอกชนรายอื่นพร้อมให้บริการแล้วกว่า 90% มีอีกแค่ 400 หมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตป่าไม้ ที่ต้องให้ ครม.อนุมัติการขอเข้าพื้นที่เท่านั้น

“พื้นที่โครงการของทีโอที ยังเปิดให้บริการไม่ได้ คงต้องเสนอคณะกรรมการพัสดุแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ที่ติดตั้งไม่ตรงสเป็กตาม TOR (ข้อกำหนดทางเทคนิค) ฉะนั้น ต้องหาคนกลางมาชี้ เพื่อให้ประชาชนใช้พื้นที่ได้ โดยที่คนส่งมอบและรับมอบไม่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งตั้งใจว่าจะต้องเปิดให้บริการได้เต็มพื้นที่ 100% ไม่เกิน ม.ค. ปี 2563”

ส่วนเรื่องสัมปทานดาวเทียมไทยคม ก็กำลังรอความชัดเจนว่า ทางดีอีทำ PPP เพื่อหาคนมาบริหารจัดการหลังสิ้นสุดสัมปทานได้ทันหรือไม่ หากไม่ทัน กสทช.จะต้องออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เหมือนที่ได้ออกประกาศในช่วงสัมปทานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สิ้นสุด