“สตาร์ตอัพเนชั่น” จุดเริ่มต้นฝันเป็นจริง “รองนายกฯ สมคิด” วันเปิด “ทรูดิจิทัลพาร์ค”

นับเป็นอีกโครงการใหญ่ที่ “กลุ่มทรู” ผลักดันเต็มที่สำหรับ “ทรูดิจิทัล พาร์ค” ที่ตั้งเป้าจะใช้พื้นที่ 43 ไร่ ในย่าน “ปุณณวิถี”  สร้างศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลแห่งแรกในไทยที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4 ปีผ่านไป ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มาทำพิธีเปิดพร้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเทคโนโลยี T.O.P.2019 – Togetherness of Possibilities ที่ได้ย้ำหลายครั้งมากกว่า “ทรูดิจิทัล พาร์ค” เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ความฝัน” ที่ตั้งใจไว้เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลในรอบที่สองได้เป็นจริง

“เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง คือ สตาร์ตอัพเนชั่น อ่านแล้วก็คิดว่าวิถีทางพัฒนาประเทศไทย ต้องตามคอนเซ็ปต์ของสตาร์ตอัพเนชั่น หมายความว่า  การที่จะให้ประเทศพัฒนาไปได้ เติบโตไปได้ มีความทันสมัย แข่งขันบนโลกนี้  ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับธุรกิจไม่กี่ธุรกิจ แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนที่จะสามารถนำเอาความคิดของเขามาสร้างเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและแข่งขันได้”

ในการแข่งขันบนเวทีโลก ประเทศไม่ใช่ผู้แข่งขัน  แต่ผู้ที่แข่งขันที่แท้จริง คือธุรกิจ คือปัจเจกบุคคลที่มีความคิดอ่านในการสร้างธุรกิจขึ้นมาแข่งขันกับโลก และถ้ายังยึดติดกับเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ  ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะหมดไปในสักวันหนึ่ง

“ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อที่สำคัญ  เรามีธุรกิจใหญ่อยู่ไม่เกิน 300 บริษัท และมีความจำกัดอย่างยิ่งในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เราอยู่  ทุกเดือนตัวเลขการส่งออก เราดูตัวเลขส่งออกด้วยความทุกข์ใจ เพราะในตัวเลขอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 – 6 อุตสาหกรรม รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ไอที ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล่านี้เป็นต้น แล้วบริษัทที่เราทำธุรกิจอยู่ในนั้นเป็นบริษัทใหญ่ เราได้กินส่วนต่างมาร์จิ้นน้อยมาก”

ถ้าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าแข่งขันบนเวทีโลกได้  คือ ต้องมีอุตสาหกรรมที่หลากหลายเพียงพอที่จะทำให้ยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค สามารถเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย เรื่องบริการ เรื่องท่องเที่ยว ค้าปลีก แบงก์กิ้ง  ถ้าสามารถทำให้หลากหลายและเน้นในเชิงสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา จะทำให้ประเทศไทยมีฐานที่แข็งแรง มีดุลยภาพ

นี่คือที่มาที่ไปของนโยบายประเทศใน 4 – 5 ปีที่ผ่านมา การมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อเป็นเบ้าหลอมให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้ามาไปลงทุน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ไม่ว่าอุตสาหกรรมไฮเทค ยานยนต์ โรบอต ปิโตรเคมีคอล หรืออื่นๆ เป็นโครงการใหญ่ครั้งแรกหลังจาก 30 – 40  ปี ประเทศไทยไม่เคยมีโครงการพวกนี้เลย และเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์

“สิ่งที่ท้าทายไปกว่านั้น ไม่ใช่แค่การมี EEC การสร้างเบ้าหลอมของการผลิต  แต่คือการสร้างเพลย์เยอร์ที่จะเข้าไปแข่งขัน นี่คือหัวใจสำคัญ ถ้าเราสามารถสร้างบุคลากรขึ้นมา ให้แต่ละคนสามารถสร้างธุรกิจของตัวเอง มีการจ้างงานได้ ให้มีทั้งประเทศ นอกเหนือจากการเป็นมนุษย์เงินเดือน นี่จะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้กลายเป็นโครงสร้างที่มีผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็คือทุกคนที่มีความคิดจะทำธุรกิจ”

ในอดีตสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะถ้าจะเข้าสู่ตลาด อีโคโนมีออฟสเกล ก็จะตัดขึ้นคุณออกไป ถ้าเทคโนโลยีไม่ถึง เงินไม่ถึงก็จะตัดคุณออกไป คุณไม่มีทางเข้าไปแข่งขันได้เลยในสมัยก่อน  40 – 50 ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นแต่ธุรกิจใหญ่  แต่ยุคสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว ขณะนี้มีอินเทอร์เน็ต เข้าสู่ยุคดิจิทัล มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ให้สามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ สเกลหรือเงินทุนหรือเทคโนโลยีไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เพราะวันนี้มีกองทุนเยอะแยะที่มาให้สนับสนุนทุน ขอให้มีไอเดียมีความคิดสร้างสรรค์จริงๆและเพียรพยายามทำให้เป็นธุรกิจได้จริงๆ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจมหาศาล

“อย่างร้านอาหารที่อยู่ในตรอกซอกซอยคนก็รู้จักเข้าไปกินได้ ก็เพราะมีแอปพลิเคชั่นมากมายที่เกิดขึ้น คนเราสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ด้วยไอเดียบวกเทคโนโลยี หาเงินทุนจากสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา นี่คือความฝันจริงๆ ที่ขณะนั้นผมคิด เมื่อเข้าร่วมรัฐบาลเป็นรอบที่สอง ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นสตาร์ตอัพเนชั่น เป็นฐานที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการ ไม่ใช่ผู้ที่รับจ้าง แน่นอนการเป็นมนุษย์เงินเดือน การรับจ้างเป็นเรื่องปกติเพราะเรามีบริษัทมีธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าคนไหนอยากทำธุรกิจตัวเอง เราต้องให้โอกาสแก่เขา อนาคตของประเทศต่ออยู่ที่คนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตและมีความคิดสร้างสรรค์ รัฐบาลมีหน้าที่จะทำอย่างไรให้ความฝันเขาได้เป็นความจริง”

ถ้าถามว่าทำไมนายสมคิดต้องมาเป็นอาจารย์มาครึ่งชีวิต เพราะไม่มีโอกาส โตขึ้นมาจากครอบครัวที่ยากจน ทางเดียวที่จะสร้างตัวได้ คือ การสอบชิงทุนไปเรียนต่อเมืองนอก กลับมารับราชการหรือทำธุรกิจ  แต่การคิดจะทำธุรกิจในสมัยเมื่อ 40 – 50 ปีก่อนไม่ใช่ง่าย

“ถ้าเรางมโข่งอยู่กับสิ่งเก่าๆ ประเทศเราจะล้าหลัง ตามเขาไม่ทัน คนรุ่นใหม่ก็จะไม่มีอนาคต เพราะอุตสาหกรรมเราสู้เขาไม่ได้ ถ้าพูดตรงๆ คือ อุตสาหกรรมของไทยไม่ใช่อุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมหนัก ประเทศไทยคือเกษตรและบริการ หมายถึงการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ค้าปลีก  เรามีฐานสำคัญตรงนี้  ถ้าสามารถเพิ่มมูลค่าแล้วนำคนรุ่นใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเพิ่งจบมหาวิทยาลัย อาชีวะ หรือแม้แต่ไม่จบอะไรมาเลย แต่เขามีปัญญา เขาก็มีโอกาสสร้างตัวของเขาได้” 

และถ้าประเทศไทยยังงมโข่งอยู่กับการเมืองทะเลาะเบาะแว้ง ตีกัน 10 – 20 ปีที่ผ่านมาไม่ยอมเลิก ในอดีต  “ซุ่นยัดเซ็น” ได้ ประกาศ “ลัทธิไตรราษฎร์” หรือ ซานหมินจู่อี้  หมายความว่า หนึ่งต้องเน้นเรื่องประชาชาติ สองคือ ประชาธิปไตย สามคือ ประชาชีพ หมายความว่าทำทุกอย่างเพื่อความสุขความมั่งคั่งของประชาชน  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือว่า ถ้ามีประชาธิปไตย แต่ไม่มีประชาชาติไม่คำนึงถึงประเทศชาติ ไม่มีประเทศไหนยืนอยู่ได้ ฮ่องกงเป็นตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าขณะนี้มีความสับสนอลหม่านขนาดไหน  ทั้งสามสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน

“คนรุ่นใหม่ของเราอนาคตสดใส ไม่เป็นสองรองใคร ฉะนั้นเราต้องทำทั้งสามอย่างนี้ให้เกิดขึ้นคือ ประเทศชาติทุกคนต้องมีสิทธิมีประชาธิปไตยและทำเพื่อทุกคนให้มั่งคั่งได้ นี่คือสามเสาหลักของประเทศไทยที่จะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้”

ทุกวันนี้ประเทศไทยมีทุกอย่างที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ดี ทำงานได้ เพียงแต่ต้องการความคิดอ่านที่สร้างสรรค์นำพาประเทศได้

“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่มีอะไรที่จะมาให้เราคอยตามก้นได้ ถ้าเราเชื่อว่าเรามีความคิดอ่าน ก็มาใช้ทรูดิจิทัลพาร์ค นำความคิดมาแปลงให้เป็นสิ่งที่คุณค่าให้กับประเทศ แล้วไม่ต้องท้อถอยหรือสิ้นหวัง เพราะคนเรากว่าจะประสบความสำเร็จได้มันไม่ใช่ของง่าย ต้องพยายาม ต้องสร้างตัวของเราเอง”