ลุยหายูสเคส 5G สู่วาระแห่งชาติ ดีแทคย้ำไม่ใช่แค่คลื่น”ทรู”ผนึกไชน่าโมบาย

ส่องเส้นทาง “ประเทศไทย” สู่ 5G ค่ายมือถือยังเสาะหายูสเคส “ดีแทค” เผยยังไม่มีโซลูชั่นโดนใจ ย้ำรัฐดัน 5G ต้องหนุนให้รอบด้านไม่ใช่แค่คลื่น ฟาก “ทรู” ดึง “ไชน่า โมบาย” เสริมทัพ “เอไอเอส” ระดมสร้างอีโคซิสเต็มผ่านความร่วมมือ ขณะที่ “กสทช.” ชง ครม.เคาะ 5G เป็นวาระแห่งชาติ

นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ณ เวลานี้ยังไม่ได้ยูสเคสที่เหมาะสมกับการให้บริการเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ แม้จะได้เริ่มทดลองทดสอบมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากยังเป็นช่วงเวลาที่จะต้องระดมความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในหลายด้าน

“5G เป็นเรื่องของการหายูสเคสโดยเฉพาะ แม้ว่าในฝั่งผู้บริโภคจะเป็นเรื่องของสปีดที่เร็วขึ้น แต่ประโยชน์โดยตรงของ 5G จะอยู่กับภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสาธารณสุข ภาคการผลิต จึงจำเป็นต้องเฟ้นหายูสเคสที่เหมาะสม เพื่อนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่แค่มีเทคโนโลยีก็จะใช้ได้เลย”

ขณะเดียวกันภาครัฐเองหากต้องการจะผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้น ก็จะต้องมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะการที่เอกชนจะลงทุนหรือไม่ลงทุน จะต้องอยู่ที่ความพร้อมในหลายด้าน

5G ต้องมีมากกว่าคลื่นความถี่

“ณ เวลานี้ภาครัฐพูดถึงแต่เรื่องคลื่นความถี่และการจัดสรรคลื่น แต่การจะเปิดให้บริการ 5G การลงทุนเน็ตเวิร์กรองรับ คลื่นไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสิ่งเดียว แต่จำเป็นต้องมีสิ่งอื่น ๆ มารองรับด้วย อาทิ การสนับสนุนให้มีการใช้โครงข่ายร่วมกัน”

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจจะกระทบถึงการตัดสินใจลงทุนด้านไอทีของภาคเอกชนหรือไม่นั้น มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะชะลอตัว และกำลังซื้อจะลดลง ก็หวังว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะไม่แย่อย่างที่คาดการณ์

“แต่ในส่วนของดีแทคเอง ก็หวังว่าจะไม่แย่ เพราะบริการโทรคมนาคมได้กลายเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไปแล้ว ไม่ต่างกับน้ำประปา ไฟฟ้า”

ขณะที่เงินลงทุนของดีแทคในปีนี้ยังคงอยู่ที่ราว 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท

ทรูจับมือยักษ์ 5G

ฟาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังเดินหน้าทดลองทดสอบ 5G เช่นกัน โดยล่าสุดได้เพิ่มความร่วมมือด้าน 5G กับพันธมิตรเก่าแก่อย่าง “ไชน่า โมบาย” ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งให้ผู้ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้ว โดยนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความร่วมมือกับ “ไชน่า โมบาย” จะมุ่งไปที่การพัฒนาธุรกิจ 5G และการเตรียมความพร้อมด้านเครือข่าย

“กลุ่มทรูได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งในเรื่องของเครือข่ายและเทคโนโลยี 5G ประสบการณ์จากการเปิดทดสอบให้บริการแก่ลูกค้าบุคคลและในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ สำหรับพนักงานและคู่ค้า และเรียนรู้ขีดความสามารถที่สำคัญต่าง ๆ ของไชน่า โมบายที่ได้จากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการก้าวตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มทรูที่จะก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย”

ทั้งก่อนหน้านี้ยังได้จัดโรดโชว์ “True 5G, The 1st Showcase Roadshow : Driving Force of the Nation” เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ 5G

สร้างเครือข่ายอีโคซิสเต็ม

ด้าน “เอไอเอส” ยังคงเน้นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมทดลองทดสอบ 5G และพัฒนาบุคลากร อาทิ ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อทดสอบนวัตกรรมข้ามภูมิภาค ไม่ว่าจะ VDO call ที่ภาพคมชัดระดับ 4K และเสียง ultra HD voice

รวมถึงจับมือกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่างหัวเว่ย, โนเกีย, แซดทีอี บ๊อช ฯลฯ เพื่อร่วมศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เตรียมพร้อมพัฒนา industrial use case ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่า การเตรียมพร้อมสู่ 5G ของเอไอเอสจะเน้นที่การพัฒนาขีดความสามารถของ 5G กับภาคส่วนต่าง ๆ ขณะที่ปีนี้ได้เตรียมงบฯลงทุนไว้ 20,000-25,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนทั้งในโครงข่าย 4G และไฟเบอร์

กสทช.ดันเป็นวาระแห่งชาติ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การเปิดให้บริการ 5G เป็นวาระแห่งชาติ

“การขับเคลื่อน 5G ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ จึงได้เรียนเสนอนายกรัฐมนตรีไปว่า ควรจะต้องมีการขับเคลื่อน 5G เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนร่วมกันเปลี่ยนผ่านและขับเคลื่อนไปด้วยกัน และอาจต้องขยับแผนให้เร็วขึ้น หลังจากประเทศเพื่อนบ้านวางแผนจะเปิดเร็วกว่าไทย”

ส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับใช้ให้บริการ 5G เตรียมจะเปิดประมูลให้ได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงราวต้นปีหน้า เพื่อให้เริ่มใช้งานได้ภายใน ต.ค. 2563 โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช.ยืดเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่นงวดแรกออกไป 2-3 ปีหลังประมูล เพื่อให้โอเปอเรเตอร์มีเงินลงทุนโครงข่าย และเป็นการจูงใจให้เข้าร่วมประมูล

“มูลค่าคลื่น 2600 MHz คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ หลังจากได้ว่าจ้างให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เป็นผู้ประเมิน ซึ่งจะนำมาใช้ในการกำหนดเงินที่ต้องจ่ายเยียวยาการเรียกคืนคลื่นให้กับ บมจ.อสมท”