สัตว์เลี้ยง-อาหาร พื้นที่ทรงพลังใหม่ Influencer

WISESIGHT ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย เปิดตัวเลขจากรายงาน Thailand’s Influencer Performance Report พร้อมเจาะลึก “อินฟลูเอนเซอร์” ในไทยกว่า 1,500 ราย ย้ำชัด ๆ อีกครั้งว่า ปริมาณไม่การันตีคุณภาพ

“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์การตลาด เป็นเทรนด์ที่มาแรงในประเทศที่ใช้งานโซเชียลมีเดียสูง อาทิ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ที่มีการใช้งานติดอันดับโลก

“การตลาดอินฟลูเอนเซอร์เติบโตสูงทั้งโลก โดย 63% ของแบรนด์วางแผนเพิ่มเงินในการทำอินฟลูเอนเซอร์ โดยทุกการใช้จ่าย 1 ดอลลาร์ บนการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ สามารถสร้างมูลค่ากลับมาได้ 5.20 ดอลลาร์ และในปีหน้า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์”

และจากรายงาน Thailand’s Influencer Performance Report ซึ่งได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ จากอินฟลูเอนเซอร์ 1,500 ราย ที่มีผู้ติดตาม 50,000 คนขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม จากผู้ติดตามและประสิทธิภาพเอ็นเกจเมนต์ ได้แก่ A+ มีสัดส่วน 10%, A สัดส่วน 30%, B 50% และ C สัดส่วน 10% เมื่อเทียบข้อมูลไตรมาสสองกับไตรมาสแรกพบว่า การโพสต์ทางเฟซบุ๊กอยู่ที่ 568,000 ข้อความ เพิ่มขึ้น 19%, อิสตาแกรม 71,000 ข้อความ ลดลง 7%, ทวิตเตอร์ 30,000 ข้อความ ลดลง 32% และยูทูบ 18,000 วิดีโอ เพิ่มขึ้น 6%

โดยโพสต์ของอินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้ 1,500 ล้านเอ็นเกจเมนต์ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 1,099 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เพิ่มขึ้น 17%, อินสตาแกรม 302 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ลดลง 8%, ทวิตเตอร์ 23 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ลดลง 13% และยูทูบ 119,000 เอ็นเกจเมนต์ ลดลง 19%

สำหรับกลุ่มของอินฟลูเอนเซอร์ได้ 13 กลุ่ม ได้แก่ beauty & fashion, financial, food & dining, gaming, health & fitness, IT & digital, kids, lifestyle, online program, pets, promotion, social news และ travel

“top 5 ที่มีเอ็นเกจเมนต์สูงสุดไตรมาส 2 คือ กลุ่ม lifestyle เพิ่มขึ้น 5%, food & dining เพิ่มขึ้น 31%, beauty & fashion ลดลง 8%, social news ทรงตัว และ pets เพิ่มขึ้น 62%”

และยังมีสถิติที่ตอกย้ำว่า การมียอดผู้ติดตาม (followers) จำนวนมาก ไม่ได้แปลว่าสามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการวิเคราะห์พบว่า อินฟลูเอนเซอร์ กลุ่ม A+ และ A ประมาณ 32% มีเอ็นเกจเมนต์ได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์กลุ่ม B และ C ประมาณ 13% สามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้ดีกว่า

“เหตุที่เอ็นเกจเมนต์น้อยอาจมาจากการปั่นยอดผู้ติดตาม หรือมีอินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มเดียวกันจำนวนมาก ซึ่งไม่เจาะลึกเหมือนคนที่มีผู้ติดตามน้อยกว่าที่จะมีความเฉพาะกลุ่มมากกว่า ฉะนั้น ไฮฟอลโลเวอร์ไม่ได้แปลว่าเป็นไฮอินฟลูเอนเซอร์ บางคนฟอลโลเวอร์ต่ำ แต่มีเอ็นเกจเมนต์สูง มีการพูดถึงเยอะ”

ขณะที่แบรนด์ส่วนใหญ่ยังเลือกอินฟลูเอนเซอร์ตามจำนวนคนติดตาม แล้วยังต้องซื้อโฆษณาต่อ ทำให้ทับซ้อนกัน การมีข้อมูลจะช่วยให้แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ได้มีข้อมูลปรับปรุงตัวเอง

ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย มีอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็หายไปมากเช่นกัน โดยบุคคลที่มียอดฟอลโลเวอร์ 50,000 ขึ้นไป ถึงจะเริ่มอยู่ในวงการได้

ปัจจุบันตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงไม่อยากให้ตลาดนี้ตายลง ด้วยเหตุที่แบรนด์รู้สึกว่าทำการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์แล้วไม่ได้ผล ทั้งที่ความจริงแล้วเพียงแค่ขาดข้อมูลในการตัดสินใจ จึงได้ตัดสินใจทำรายงานวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้นักการตลาดและแบรนดได้ใช้เพื่อขับเคลื่อนการตัดสินใจ

“อย่าคิดว่าอินฟลูเอนเซอร์จะสร้างยอดขาย เพราะปัจจุบันคนซื้อของต้องเสิร์ชหารีวิวจากคนหลาย ๆ คน ดังนั้นอาจดูรีวิวจากคนแรกแล้วยังไม่ซื้อ ไม่ได้แปลว่าไม่ดี แต่ผู้บริโภคยังต้องการหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจเพิ่ม ดังนั้นการใช้อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นการให้ข้อมูล โน้มน้าว เพราะคนไม่เชื่อถือแบรนด์ตรง ๆ”

สำหรับเทรนด์การตลาดที่น่าจับตามองในปัจจุบัน คือ “อีสปอร์ต” แม้ยังไม่มีตัวเลขการเติบโต และกำลังเป็นช่องทางการตลาดใหม่ที่แบรนด์ให้ความสนใจ แต่แบรนด์ยังต้องทำความเข้าใจว่า ควรทำการตลาดกับอีสปอร์ตอย่างไร ต้องรอดูต่อไป