รัฐลุย “ไทยแลนด์ 4.0” ดันสตาร์ตอัพเต็มสูบ…แต่ผิดทาง !

สัมภาษณ์

10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นยุคทองของสตาร์ตอัพไทย ยิ่งรัฐบาลประกาศผลักดัน “ไทยแลนด์ 4.0” นโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ เมื่อปี 2559 สตาร์ตอัพก็กลายเป็นเรื่องฮิตที่ถูกพูดถึงในทุกหน่วยงานรัฐ แต่ก็ยังไม่มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นที่มูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่วนใหญ่ติดกับดักอยู่ที่ซีรีส์ A (เกิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ) เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดมุมมองนายกสมาคมไทยเทคสตาร์ตอัพ “ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม”

Q : ทำไมไทยยังไม่มียูนิคอร์น

ไม่ต้องยูนิคอร์น เอาแค่โตในประเทศก่อน สตาร์ตอัพส่วนใหญ่วิ่งอยู่บนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เค้กก้อนนี้ในไทยยังเล็ก เพราะพอผู้ประกอบการเริ่มโตก็ไม่อยากจะออนไลน์ กลัวสรรพากรจะรู้รายได้ จึงต้องกระตุ้นให้ SMEs ประชาชนทั่วไป ให้ก้าวไปสู่ดิจิทัลเพื่อให้เค้กใหญ่ขึ้น แล้วเมื่อโตในประเทศได้ดี ฐานจะแข็งแรงพอไปต่างประเทศ

Q : ก็โตเร็ว อีคอมเมิร์ซโตมาก

ยังกระจุกอยู่ ผมจึงพยายามใช้คำว่า อีโคโนมี เพื่อไม่ให้มองไปแค่การซื้อขายกันบนออนไลน์เท่านั้น เพราะมันแค่ส่วนเดียว wealth ของดิจิทัลมันไม่ขึ้น

Q : ภาครัฐสนับสนุนเต็มที่

แต่ลงไม่ถูกจุด ทั้งที่เรามีปัจจัยทุกอย่างที่พร้อมสนับสนุน แต่ทำแล้วไม่เวิร์ก แค่คำว่าสตาร์ตอัพของแต่ละหน่วยงานยังนิยามไม่เท่ากัน บางหน่วยงานกลายเป็น วิสาหกิจชุมชน ส่วนองค์กรกำกับดูแลก็ไม่เข้าใจว่า จะจัดการกับสตาร์ตอัพอย่างไร ก็เลยใช้วิธีแบบที่ทำในออฟไลน์ กลายเป็นปัญหา นักลงทุนของไทยก็ไม่ริชกับสตาร์ตอัพ เพราะเสี่ยงสูง ขณะที่ต่างประเทศจะมีแมตชิ่งฟันด์มาช่วยรับความเสี่ยง

สุดท้าย คือ องค์กรใหญ่ ที่เป็น VC มาลงทุนในสตาร์ตอัพ ก็มองว่าเป็นแค่ subsidiary ซื้อมา 10 ล้าน 20 ล้าน ก็เป็นเจ้าของแล้ว แม้จริง ๆ จะถือหุ้นแค่ 10% และก็มองว่า ต้องเอานวัตกรรมที่คิดมาให้ฉันใช้เท่านั้น ห้ามให้คนอื่นใช้ แล้วสตาร์ตอัพจะขยายตลาดอย่างไร

สิ่งที่สตาร์ตอัพต้องการ คือ การมีแมตชิ่งฟันด์ให้ VC กล้าลงทุนมากขึ้น ฝั่งคอร์ปอเรชั่น ถ้าอยากได้ก็ซื้อกิจการไปเลยไม่ใช่ลงทุน เพื่อ พี.อาร์.องค์กร หรือสกัดไม่ให้ไปขยายตลาด หรือมองสตาร์ตอัพเป็นของราคาถูกฝั่งองค์กรกำกับก็ต้องยอมรับว่า สตาร์ตอัพล้มเหลวได้ การเข้าไปสนับสนุนไม่ใช่ทุกรายจะไปรอด แต่ สตง.ยังวัดผลแบบเดิม ทำให้ภาครัฐลงทุนกับสตาร์ตอัพแบบนับหัวคนมางานให้ครบตาม KPI แล้วจบ เงินก็จะไปอยู่แค่บริษัทจัดอีเวนต์ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จจริง ประเทศนี้ก็ success ไปแล้ว

ถ้าเงินลงทุนแบบเสี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ถึงสตาร์ตอัพหรอก เพราะธรรมชาติสตาร์ตอัพ คือ ความเสี่ยง

Q : สมาคมเคยส่งไวต์เปเปอร์ให้รัฐ

5 ปีผ่านไป เรื่องก็ยังค้างอยู่ที่กฤษฎีกา คือ รัฐเคลื่อนตัวช้ามาก ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ อินโดฯ เวียดนาม รัฐเคลื่อนตัวไม่ช้า และ relax อยากทำอะไร ทำเลย อย่าง GoJek โตเร็วมาก ที่รัฐสนับสนุนสตาร์ตอัพถามว่า เพื่ออะไร new S-curve ? ถ้าตอบได้ชัด ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะรู้ว่า ตัวเองต้องทำอะไร

Q : ก็มีไทยแลนด์ 4.0, Big Bang

ก็ได้ในแง่การรับรู้ว่าไทยกำลังสนใจเรื่องนี้ แต่ปัญหาคือ ต่างประเทศที่คุณไปดึงดูดเข้ามา คือ คนมาขายของให้เรา มาดึงเงินจากเรา ไม่ใช่คนมาลงทุนหรือเอาเงินมาให้เรา หรือดึงดูดลูกค้าให้เรา

Q : ถ้าอยากปลดล็อกให้เห็นผลเร็ว

ต้องมี common goal ของประเทศให้ชัดว่า อยากยืนอย่างไรบนโลกดิจิทัล ไม่ใช่แค่ไทยแลนด์ 4.0 มันต้องจับต้องได้ อย่าง future economy committee ของสิงคโปร์ อ่านแล้วจะรู้ว่า ในฐานะภาคเอกชน ผมต้องทำอะไร ประเทศจะไปทางไหน จะไปอยู่จุดไหนในอนาคต แต่ยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทย ยังไม่เห็นแบบนั้น ซึ่งเป็นปกติ เพราะรัฐของไทยจะร่างสิ่งที่รัฐอยากจะทำ ไม่ได้ร่างสิ่งที่ประเทศควรจะเป็น และสิ่งที่ประเทศควรจะทำ ไม่เขียนสิ่งที่เอกชน-ประชาชนควรจะทำ ควรจะเป็น เพราะรัฐมองว่า รัฐคือประเทศ แต่มันไม่ใช่

ส่วนการปลดล็อกข้อกฎหมายให้สตาร์ตอัพ อาทิ ให้หุ้นกับพนักงานได้ เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะนิยามคำว่าบริษัทของไทย ไม่เท่ากับ company ในประเทศอื่น แต่ทั้งอีโคซิสเต็มต้องชัดด้วย

Q : สิ่งที่อยากบอกกับสตาร์ตอัพรุ่นใหม่

บอกตัวเองว่า ฉันห่วย ฉันต้องดีกว่านี้ ทำตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่าโทษคนอื่นเยอะ ต้องทำตัวเองให้ดีส่วนที่ยังมีโอกาสโตได้ดีคือ B2B บิสซิเนสโซลูชั่น ยังมีช่องว่างอีกมากที่สตาร์ตอัพจะเข้าไปแก้ปัญหาให้ธุรกิจได้จริง ๆ

Q : นิยาม 5 ปี ของไทยแลนด์ 4.0

understanding เราเริ่มเข้าใจสตาร์ตอัพ เริ่มเข้าใจดิจิทัลกันมากขึ้น เริ่มตระหนักรู้ว่าต้องทำอะไร แต่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร