Grab For Good เป้าหมายสู่ความยั่งยืนทั้งอาเซียน

เป็นอีกบริษัทเทคโนโลยีที่สยายปีกการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ล่าสุดได้เปิดตัวโครงการ “Grab For Good” ที่ตั้งเป้าจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีแก่ประชากรทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับ “ผู้พิการ”

“แอนโทนี่ ตัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ระบุว่า ปัจจุบันแกร็บเปิดให้บริการแล้วใน 8 ประเทศ รวม 339 เมือง ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา แกร็บได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปราว 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดย่อมกว่า 9 ล้านราย ในอาเซียน มีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มแกร็บ

ทั้งจากการเป็นพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ พาร์ตเนอร์ผู้ส่งของ ร้านค้า และพาร์ตเนอร์ตัวแทน โดย 21% ของพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ไม่เคยทำงานมาก่อน และ 31% ไม่เคยมีรายได้ก่อนเข้าร่วม

นอกจากนี้ แกร็บยังเป็นส่วนหนึ่งในช่วงการให้เกิด “สังคมไร้เงินสด” (cashless society)

โดยตั้งแต่ปี 2555 มีผู้ใช้เงินดิจิทัลมากกว่า 9 เท่าบนแกร็บ เมื่อเทียบกับอัตราการทำธุรกรรมไร้เงินสดทั่วประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวน 1.7 ล้านรายเปิดบัญชีธนาคารบัญชีแรก

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่รวมสิงคโปร์และเวียดนาม มีการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเฉลี่ย 3-5% ขณะที่ทรานแซ็กชั่นของดิจิทัลเพย์เมนต์ในแกร็บเฉลี่ย 20-35% อย่างประเทศไทยมีอัตราทรานแซ็กชั่นจากดิจิทัลเพย์เมนต์เพียง 3% แต่การใช้ดิจิทัลเพย์เมนต์ในแกร็บมีสัดส่วนถึง 31%”

จับมือไมโครซอฟท์พัฒนาทักษะ

และเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาเซียนมากขึ้นด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยี แกร็บได้ออกโปรแกรม “Grab For Good แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยภายใต้โปรแกรมนี้ ได้แบ่งเป็น 2 โปรแกรม ได้แก่ “Tech For Good” ที่แกร็บเป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคกับ “ไมโครซอฟท์” ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะรวมถึงความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับฝึกฝนนักศึกษา, พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ และครอบครัวของพาร์ตเนอร์ผู้ขับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และโครงการ “Break the Silence” ที่เป็นโครงการระดับภูมิภาค เพื่อช่วยคนหูหนวกและผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ในการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านทางอีโคซิสเต็มของแกร็บ

“ปัจจุบันมีประชากรวัยทำงานจำนวน 6.6 ล้านคนในประชาคมอาเซียน ใน 6 ประเทศต้องการปรับทักษะใหม่ภายในปี 2571 เนื่องจากประชากร 41% ขาดทักษะเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคต ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างแกร็บและไมโครซอฟท์จะช่วยปิดช่องว่างด้านทักษะในการทำงานด้านเทคโนโลยี”

โดย “Tech For Good” แกร็บตั้งเป้าผลิตบุคลากร 3 ล้านคนภายในปี 2568 โดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดอบรมกับทักษะที่ใช้ได้จริงและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรม ตั้งเป้าผลิตบุคลากร 20,000 ราย/ปี

ปัจจุบันเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย และวิทยาลัยเทคโนโลยีบันดุง คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยอื่นในอาเซียนเข้าร่วมเพิ่มขึ้นใน 6 เดือน

ด้านพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่และครอบครัว พาร์ตเนอร์สามารถเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นแกร็บในคอร์สพื้นฐาน เช่น ด้านคอมพิวเตอร์ การใช้อินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ โดยเริ่มเปิดตัวด้วยภาษาอังกฤษในแกร็บอะคาเดมี และจะเปิดตัวภาษาอื่น ๆ ในปีหน้า

นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ Generation : You Employed องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการสร้างทักษะในการทำงาน โดยผู้ที่เรียนจบโครงการ สามารถสัมภาษณ์งานกับบริษัทพันธมิตรของแกร็บและไมโครซอฟท์ได้

ส่วนการพัฒนาครอบครัวพาร์ตเนอร์ ได้ร่วมกับมูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation) และศูนย์การเรียนรู้ Empire Code เพื่อเปิดโอกาสให้บุตรและคู่สมรสของพาร์ตเนอร์แกร็บ ในการศึกษาคอมพิวเตอร์ที่ครอบคลุมผ่านแพลตฟอร์ม Future Ready ASEAN

“มิ.ย.ปีหน้า แกร็บและไมโครซอฟท์จะเริ่มทดลองเพิ่มทักษะให้กับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่จำนวน 100 คนในสิงคโปร์ และจะเปิดตัวในประเทศอื่นหลังจากการประเมินโครงการแรก”

หนุนผู้พิการสร้างรายได้

ส่วนโครงการ “Break the Silence” แกร็บจะขยายไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์ โดยเป็นพันธมิตรกับสมาคมคนหูหนวกแห่งสิงคโปร์ และจะเป็นพันธมิตรกับ Gerkatin ในอินโดนีเซีย พร้อมเปิดตัว GrabGerek บริการการเดินทางเฉพาะสำหรับผู้พิการ ในอีก 2 เมืองของอินโดนีเซีย

โดย GrabGerek จะเปิดตัวในเมืองเมดานและเมืองเซมารัง ธ.ค.ปีนี้

ทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการในมาเลเซียและไทย โดยเป็นพันธมิตรกับสหภาพคนหูหนวกแห่งมาเลเซีย และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันแกร็บมีพาร์ตเนอร์หูหนวกกว่า 500 คนบนแพลตฟอร์ม และวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนอีก 2 เท่าภายในปีหน้า

สำหรับประเทศไทย แกร็บมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน ราว 50 คน

ปัจจุบันแกร็บกำลังพัฒนากระบวนการและฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถสื่อสารกับผู้โดยสารได้ง่ายขึ้น เช่น ในมาเลเซีย แกร็บจะผลิตพจนานุกรมสัญลักษณ์ เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปในการสื่อสารกับชุมชนคนหูหนวก, ป้ายแขวนบนยานพาหนะที่ระบุว่า พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่เป็นคนหูหนวก, ปิดระบบการโทร.สำหรับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่บกพร่องทางการได้ยิน

“ปัจจุบันมีผู้พิการเกือบ 800 คน ที่สร้างรายได้ผ่านแพลตฟอร์มแกร็บ ทั้งมีปัญหาทางด้านการได้ยิน, สมองพิการ หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว โดยพวกเขาให้บริการลูกค้าของเราในฐานะพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่หรือผู้ส่งของ พร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่พบเจอ”