ลุย “รัฐบาล 4.0” เร่งเชื่อมข้อมูลดันดิจิทัลไอดี

เมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ได้ประกาศใช้ และหากสามารถบังคับใช้ได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จะพลิกโฉมการให้บริการภาครัฐอย่างมาก เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนตามกฎหมายนี้ ได้เปิดเวทีชี้ให้เห็นภาพชัด ๆ ว่า “ภาครัฐจะเปลี่ยนไปอย่างไร และประชาชนจะได้อะไรจาก พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล”

ปลดล็อกปัญหากฎหมาย

“ไอรดา เหลืองวิไล” รักษาการแทนผู้อำนวยการ DGA เปิดเผยว่า ก่อนจะมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ การผลักดันให้เกิดรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการ “เชื่อมโยงข้อมูล” ระหว่างหน่วยงานรัฐ มีอุปสรรคใหญ่ คือ กฎหมายของแต่ละหน่วยงานที่ทำให้แต่ละหน่วยงานไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ ทั้งรูปแบบข้อมูลก็ไม่พร้อมจะให้แลกเปลี่ยน

แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ จะทำให้สามารถสร้างแพลตฟอร์มกลางในการแบ่งข้อมูล Government Data Exchange Center (GDX) ซึ่งจะแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ภาคประชาชน เป็นการรวมช่องทางบริการของรัฐทั้งหมดในแอปเดียว โดยที่การทำงานหลังบ้านเกิดจากหน่วยงานนั้น ๆ 2.สำหรับผู้ประกอบการ และ 3.องค์ความรู้ เป็นศูนย์กลางในการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ที่ทั้งประชาชนและเอกชนสามารถใช้งานได้ง่าย โดยคาดว่าอีก 2 ปีจะพร้อมใช้เต็มรูปแบบ

“เดิมแต่ละหน่วยงานมีแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ตัวเอง ทำให้ประชาชนต้องโหลดแอปเป็นหลายร้อยตัว พ.ร.บ.นี้จะทำให้เกิด one stop service สามารถให้บริการรัฐได้ทั้งหมดในแอปเดียว”

มั่นใจได้ตามเป้า

“วิริยา เนตรน้อย” ผู้อำนวยการกองบริหารการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ทำแพลตฟอร์มกลาง “biz portal” แอปศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ รวมทั้งพยายามปรับการทำงานโดยไม่เรียกเอาสำเนาบัตรประชาชน

โดยในปี 2562 ภาครัฐตั้งเป้าว่าต้องมีระบบอีเซอร์วิสอย่างน้อย 5 ประเภท ใน 50 งานบริการ เช่น ใบอนุญาต, ใบเสร็จรับเงิน, ใบรับรองแพทย์, ใบมอบอำนาจ เป็นต้น ปัจจุบันสามารถทำได้ 70 งานบริการแล้ว และมีการรายงานทุก 6 เดือน ดังนั้น อยากให้มั่นใจว่าดำเนินการตามเป้าหมายแน่นอน

แต่ biz portal ยังมีคนมาใช้น้อย เพราะ 1.ยังมีปัญหาเรื่องการยืนยันตัวตน โดยผู้ใช้บริการยังต้องเดินทางไปยังหน่วยงานอยู่ ดังนั้น ดิจิทัลเนชั่นแนลไอดีจะเข้ามาช่วย 2.หน่วยงานรัฐยังให้บริการแบบเดิมอยู่ ยังไม่ผลักดันให้ประชาชนไปใช้ biz portal ดังนั้น ต้องปรับวิธีการคิด เพื่อให้เกิด one stop service ได้จริง แต่ที่น่าห่วงคือ งบประมาณในการพัฒนาระบบ

ลุย One Stop Service

“ศุภโชค จันทรประทิน” ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงปลอดภัย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กล่าวว่า ดิจิทัลไอดี หรือการยืนยันตัวตนผ่านทางระบบดิจิทัล เป็นอีกสิ่งที่สำคัญ ซึ่งมีหลายหน่วยงานทำอยู่ แต่ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มการใช้ อาทิ ในกลุ่มสถาบันการเงินเพื่อใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน ฉะนั้น ภาครัฐต้องมีระบบยืนยันตัวตนที่เป็นระบบกลางให้ประชาชนมีไอดีเดียว แต่สามารถทำธุรกรรมรัฐได้ทุกที่ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการยกร่างกฎหมาย

ประชาชนได้ประโยชน์จริง

“พรชัย หาญยืนยงสกุล” ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ เช่น บัตรสวัสดิการ ถ้าไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง ก็จะเกิดกรณีที่เคยจ่ายเงินให้คนที่เสียชีวิตไปแล้ว พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐฯจะช่วยให้แต่ละหน่วยงานเชื่อมโยงข้อมูล และปลดล็อกปัญหาจากระเบียบการเบิกจ่ายเงินเดิมที่ห้ามไม่ให้แต่ละหน่วยงานรับ-จ่ายแทนกัน ซึ่งก็จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มากขึ้น อาทิ กรณีจ่ายค่าปรับต่าง ๆ ข้ามหน่วยงาน ขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนการทำ MOU ระหว่างหน่วยงานเท่านั้น

ด้าน “วัชรกูร จิวากานนท์” รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.รัฐดิจิทัล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลง ทำให้เอกชนและประชาชนมั่นใจ ปัจจุบันดาต้ามีค่ามาก ดังนั้น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่มีมาตรฐาน เดียวกัน จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ในเชิงการผลักดันให้ประชาชนใช้อิเล็กทรอนิกส์นั้น การให้ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ควบคู่กันไป ไม่เช่นนั้นต่อให้มีเทคโนโลยีดีแค่ไหน แต่คนไม่กล้าใช้ก็ไปไม่ได้ อย่างคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลยิ่งกลัวการใช้เทคโนโลยี


“การก้าวสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ ทั้งลดค่าใช้จ่าย ทั้งการเดินทาง ทั้งต้นทุน และการเชื่อมโยงข้อมูลก็ง่าย สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดบริการได้อีกมาก”