SafeInternetForKid “ผู้ปกครอง-ครู” ต้อง “เท่าทัน” ก่อน

ท่ามกลางการขยายตัวที่รวดเร็วของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต “ภัยไซเบอร์” และความเสี่ยงจากช่องทางออนไลน์ก็เข้าใกล้ตัวทุกคนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม “เด็ก-เยาวชน”

ผลสำรวจของ WEF Global เกี่ยวกับพลเมืองดิจิทัล ทุกประเทศรวมถึงประเทศไทย พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาบนเว็บไซต์กว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 ชั่วโมง โดยใช้ผ่านสมาร์ทโฟนสูงสุด 73%

ขณะที่มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยพบว่า เยาวชนไทยร้อยละ 95 ตระหนักดีว่า อินเทอร์เน็ตมีอันตราย ร้อยละ 70 รู้ว่าเพื่อนทางออนไลน์ไม่พูดความจริง และร้อยละ 46 เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (cyber bully)

พร้อมให้ “ข้อมูล” แลกรางวัล

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บนเวทีเสวนา “เปลี่ยนจาก Digital Naive เป็น Digital Native” โดยดีแทค “ธเนศ ศิรินุมาศ” หัวหน้าทีมออกแบบกระบวนการอบรม insKru สตาร์ตอัพที่มุ่งพัฒนาศักยภาพคุณครูระบุว่า เด็กและเยาวชนยังไม่รู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ไม่รู้ว่าสิ่งใดไม่ควรทำและเผยแพร่ต่อบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่ ข้อมูลการศึกษา ข้อมูลส่วนบุคคลอื่น

“เด็กพร้อมจะให้ข้อมูลกับคนแปลกหน้าเพื่อได้รางวัลชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่การให้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งรหัสต่าง ๆ และข้อมูลต่าง ๆ เป็นเรื่องที่อันตรายมาก และยังพบปัญหาการสร้างบัญชีผู้ใช้ปลอมเพื่อมารังแกกัน, การกีดกันออกจากกลุ่มออนไลน์ แม้แต่ใช้ข่มขู่ครู”

เร่งสร้าง Digital Resilience

“อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้คล่องแคล่ว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีทักษะใช้งานได้ปลอดภัย

ดีแทคและ “insKru” ได้สำรวจข้อมูลจากเครือข่ายครูกว่า 500,000 คนในไทย พบว่า 87.9% ของคุณครูเชื่อมั่นว่ามีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย แต่มีแค่ 57.4% ที่มีความรู้เพียงพอ

เทเลนอร์ กรุ๊ป และ Parent Zone ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวจากอังกฤษ จึงได้พัฒนา SafeInternetForKid.com แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่คุณครูและผู้ปกครองใช้เป็นเครื่องมือสอนเด็ก ๆ ให้ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงในโลกดิจิทัล (digital resilience) ทั้งการแยกแยะความเสี่ยงบนออนไลน์ได้ รู้วิธีขอความช่วยเหลือและแก้ไขสถานการณ์ได้เหมาะสม หากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นเหยื่อ

รวมถึงได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สร้างค่ายเยาวชนอบรมทักษะการใช้ดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน (digital literacy)

“ผู้สูงวัย” อีกกลุ่มเปราะบาง

“มานิชา โดกรา” รองผู้อำนวยการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเอเชีย เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เทเลนอร์ตั้งเป้าปี 2563 ที่จะให้เด็กและเยาวชนกว่า 4 ล้านคน ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย โดยเริ่มโครงการแล้วใน 8 ประเทศ จาก 13 ประเทศเป้าหมาย โดยในเอเชียจะมีการเปิดใช้งานในภาษาถิ่นของแต่ละประเทศด้วย อาทิ ในไทย บังกลาเทศ เมียนมา ลาว นอกเหนือจากที่เปิดใช้งานในภาษาอังกฤษอย่างในมาเลเชีย

“ยังไม่ได้มีการแทร็กผลการเรียน แต่ผลตอบรับเบื้องต้นพบว่า การใช้งานในเอเชียไม่สามารถใช้เฉพาะช่องทางออนไลน์ได้ ต้องมีการเรียนรู้ผ่านทางช่องทางออฟไลน์ และการลงพื้นที่ไปในหลาย ๆ จุด เพื่อขยายการเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกล มีหลายประเทศจะต้องสั่งพิมพ์เป็นกระดาษเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ สเต็ปต่อไปจะเพิ่มช่องทางของพอดแคสต์เพื่อให้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูได้เรียนรู้ทาง SafeInternetForKid.com”

ขณะที่ผลการสำรวจผู้ใช้ในประเทศที่เทเลนอร์กรุ๊ปทำธุรกิจพบว่า เด็กและเยาวชนทุกประเทศมีปัญหาความเสี่ยงจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่แตกต่างกัน และที่เหมือนกันก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง “ตามไม่ทัน” กับพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนตามเทคโนโลยี และทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ โดยกลุ่มเด็กที่อายุ 11-13 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาและความเสี่ยงจาก cyber bully มากที่สุด และสิ่งที่เริ่มเห็นแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น คือ การใช้ช่องทางออนไลน์ในการล่อลวง และล่วงละเมิดทางเพศ

แต่สิ่งสำคัญที่พบจากโครงการนี้ คือ เมื่อเทียบระหว่างผู้ใช้งานในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน กับเอเชีย พบว่า เมื่อเกิดปัญหาจากภัยไซเบอร์ กลุ่มเด็กเยาวชนในแถบสแกนดิเนเวียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องบอกใคร แต่เด็กในเอเชียเมื่อเจอกับปัญหาก็ไม่รู้จะไปบอกใคร ปรึกษาใคร เพราะเมื่อบอกผู้ปกครองแล้ว สิ่งที่ผู้ปกครองทำคือ ไม่ให้เด็กใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียอีก แทนที่จะบอกหรือแนะนำวิธีการรับมือและอยู่กับอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย

“สะท้อนชัดถึงวิธีการรับมือกับปัญหาของผู้ใช้งานใน 2 กลุ่มประเทศที่ต่างกัน คือ ผู้ปกครองตามไม่ทันเหมือนกัน แต่ฝั่งสแกนดิเนเวียนเห็นความสำคัญที่ต้องไปเรียนรู้ ต้องมีทักษะด้านนี้ ต้องหาเครื่องมือเพื่อมาช่วยในการดูแลลูก แต่ฝั่งเอเชียจะใช้วิธีดึงอินเทอร์เน็ตออกจากเด็กแทน”

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นกลุ่มที่ “เปราะบาง” ในการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้มีความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้งานเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน อาทิ การตกเป็นเหยื่อในการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ การหลงเชื่อในข่าวหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และส่งต่อ fake news ต่าง ๆ เพียงแต่ตอนนี้เทเลนอร์กรุ๊ป ยังโฟกัสที่กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นหลักก่อน