เคลียร์ชัด 8 ปี กสทช. เอื้อรัฐ-โอเปอเรเตอร์-ผู้บริโภค ?

สัมภาษณ์

7 ต.ค. 2562 ครบรอบ 8 ปี การทำงานของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้กำกับอุตสาหกรรมหลายแสนล้าน แม้จะครบวาระตั้งแต่ 6 ต.ค. 2560 แต่ก็ได้ “ม.44” ขยายเวลาให้ทำหน้าที่ต่อ “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดประเด็นร้อน กับประธานบอร์ด “พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร”

Q : 8 ปีพึงพอใจแค่ไหน

เป้าหมายส่วนตัวที่ตั้งใจจะเข้ามาทำถือว่าบรรลุ ได้ทำแล้วทั้ง USO (บริการสาธารณะทั่วถึง) และวิทยุสมัครเล่น ถือว่าเดินไปด้วยดี มีแผนแม่บทเรียบร้อย ส่วนภารกิจร่วม ฝั่งโทรคมนาคมก็เดินหน้ามาด้วยดีตั้งแต่ 3G 4G ประมูลชุดคลื่นความถี่ต่าง ๆ ผู้บริโภคก็ได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ การประมูลคลื่นที่ผ่านมาทำรายได้เข้ารัฐกว่า 3.9 แสนล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และ กสทช.ยังมีเงินให้รัฐทุกปี และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจอื่นด้วย

Q : แต่ USO ก็มีเน็ตชายขอบที่ไม่เสร็จ

ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า ถ้าทำดีที่สุดแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ก็อย่าท้อ เพราะไม่ได้มีปัจจัยแค่เราเท่านั้น

Q : ประมูลทีวีดิจิทัล ตัดสินใจผิดพลาด

ณ ตอนนั้น บอร์ดยังแยกเป็นฝั่งโทรคมนาคม กับฝั่งบรอดแคสต์ แต่ก็เชื่อว่าบอร์ดฝั่งบรอดแคสต์ตัดสินใจด้วยเจตนาดีที่อยากให้เกิดการสมบูรณ์แบบ อย่างช่องที่คืนส่วนใหญ่เป็นช่องเด็ก ก่อนประมูลผมก็เห็นแล้วว่า ช่องเด็กคงไปไม่รอด ในบ้านมีทีวีหนึ่งเครื่อง ผู้ใหญ่จะเปิดให้เด็กดูไหม ฉะนั้น เจตนาดีและรีบที่จะมีให้เหมือนประเทศอื่น ขณะที่ความพร้อมในด้านอื่น ๆ มันยังไม่มี ไม่ว่าจะเป็น set-top-box การชดเชยให้ภาคประชาชนต่าง ๆ มันเกิดขึ้นทีหลังก็โชคดีมี ม.44 ช่วยแก้ปัญหา

Q : ถูกมองว่าใช้เงินเปลืองมาก

งบประมาณได้ใช้เพื่อกำกับดูแล การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็เท่าที่จำเป็น มีเหลือก็ส่งคืนคลัง เพียงแต่อาจมีงบประมาณให้ใช้มากกว่าองค์กรอื่น แต่ผมไม่ถือว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย สตง. ก็กำกับการใช้เงินของ กสทช.ใกล้ชิด

Q : สิทธิผู้บริโภคไม่ค่อยถูกดูแล

การคุ้มครองผู้บริโภค ก็รบมาเรื่อย ๆ ถ้าร้องเรียนมาเราพิจารณาทุกกรณี รวมถึงการแก้ไขทั้งระบบ อาทิ การตั้งเสาโทรคมนาคมที่กำหนดให้จัดประชาพิจารณ์และคนในพื้นที่ต้องยินยอม แต่ถ้าร้องมาลอย ๆ ก็ไม่รู้จะตัดสินอย่างไร

ส่วนปัญหาทีวี เกิดขึ้นจากการต้องเอาตัวรอด ต้องดิ้นรนไปเอาอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดรายได้ แต่ถ้าร้องเรียนมาก็จะมีการสั่งปรับ ซึ่งเท่าเทียมกันหมด อย่างวิทยุ 1 ปณ ของ กสทช.เอง ก็เคยถูกสั่งปรับ ไม่ได้หยุดยั้งในการดูแลผู้บริโภค

การเป็น กสทช. ความคาดหวังของคน คือ อยากให้จัดให้มีบริการที่ดี มีคุณภาพ ราคาถูก แต่ก็มีผู้ประกอบกิจการเป็นตัวกลางที่ต้องการกำไร

ฉะนั้น ต้องกำกับให้เขามีกำไรแต่พอควร พอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เหมือนลูกไก่ที่ต้องจับพอดี ๆ ถ้าบีบแรงไป ลูกไก่ก็ตาย ประชาชนก็ไม่มีบริการให้ใช้ รัฐก็ไม่มีรายได้ ซึ่งไม่ใช่แค่เงินประมูล แต่รวมถึงภาษีเงินได้ และจากธุรกิจอื่นที่ได้ใช้ประโยชน์จากบริการที่เรากำกับดูแล ฉะนั้น ต้องประคับประคองในระดับที่เหมาะสม

Q : กลายเป็นอุ้มผู้ประกอบการ

องค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่ต้องรักษาสมดุล ประโยชน์รัฐ ประชาชน และผู้ให้บริการด้วย กสทช.ทำให้ตัวเลขความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 8 ปีก่อนอย่างมาก โดยเฉพาะภาคโทรคมนาคม มันก็คือคำตอบว่า เราทำงานได้ดีขนาดไหน

Q : งานเร่งที่รออยู่

5G ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เราก็ก้าวอย่างมั่นคง เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องจัดให้มี เป็นความต้องการของประชาชน เราก็จัดให้ แต่เมื่อเป็นของใหม่ก็ต้องทดลอง ทดสอบหาคลื่นที่เหมาะสม และรีฟาร์มคลื่น ทำความเข้าใจกับ 5G ว่าเหมาะสำหรับอะไร และจะใช้แบบไหน ควรจะวางหลักเกณฑ์การประมูลอย่างไรถึงจะมีโอเปอเรเตอร์มาประมูล เพราะเป็นเรื่องสำคัญสุด ซึ่งโอเปอเรเตอร์ก็ต้องคิดว่าจะทำมาหากินทำกำไรได้อย่างไร

เราต้องคิดทั้งรัฐ ทั้งโอเปอเรเตอร์ ทั้งภาคธุรกิจ ว่าแล้วเขาจะใช้ไหม ใช้แล้วจะสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่า 4G ที่เขาใช้งานอยู่ได้หรือเปล่า

Q : ไทม์ไลน์ 5G

ถ้าไม่ติดข้อขัดข้อง ธ.ค.ปีนี้น่าจะประมูลคลื่น 2600 MHz ได้ เพื่อเปิดให้บริการให้ทัน ต.ค. 2563 ประเด็นก็อยู่ที่ว่า คลื่น 2600 MHz อยู่ที่ บมจ.อสมท วิธีคิดประเมินมูลค่าคลื่นกับการเยียวยาของ กสทช. ต่างกันเยอะกับที่ อสมท ต้องการ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ต้องไปจบที่ศาลปกครอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าศาลจะใช้เวลานานแค่ไหน

Q : อสมท คือ ตัวชี้ขาด 5G

ไม่ 2600 MHz เป็นแค่คลื่นหนึ่งเท่านั้น ยังมีคลื่น 3.5 GHz แต่ก็ต้องมีกระบวนการรีฟาร์มเพราะไทยคมใช้งานอยู่ ก็ต้องย้ายปรับปรุงจานดาวเทียมย่านซีแบนด์ ต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค กับส่วนที่ต้องย้ายย่านความถี่ดาวเทียม กำลังศึกษามูลค่าทั้งหมด ก็ทำทั้งฝั่ง กสทช. และฝั่งไทยคม ว่าตัวเลขจะออกมาเท่าไร

ทำคู่กันไป ทั้ง 2 ย่าน แต่ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) ยังไม่ได้สรุปลงมติว่าจะใช้คลื่นย่านใดบ้างสำหรับ 5G ปลายเดือนนี้จะเริ่มประชุมกัน เราก็จะต้องล้อไปตาม ITU

แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมจะเป็นการให้บริการเฉพาะพื้นที่ อาทิ ในนิคมอุตสาหกรรม อาจจะมีคนอื่นนอกจากค่ายมือถือเข้ามาประมูลคลื่นสำหรับให้บริการแบบนี้ได้ ฉะนั้น ปลายปีนี้ก็จะจัดประมูลคลื่น 2600 MHz กับ 26-28 GHz ซึ่งไม่ต้องรีฟาร์มคลื่นจากใคร แต่ 2600 MHz ต้องรีฟาร์มทั้งจาก อสมท และหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งเขาจะคืนคลื่นได้เมื่อเรามีคลื่นใหม่มาชดเชยให้ ตอนนี้ทางสำนักงาน กสทช.กำลังดูให้อยู่

Q : จะนั่งในตำแหน่งไปเรื่อย ๆ

ไม่ได้อยากจะอยู่ในตำแหน่งไปเรื่อยๆ แต่จะรอเวลาที่เหมาะสม อยากให้ 5G สำเร็จก่อน ไม่ใช่ไม่ไว้ใจบอร์ดชุดใหม่ว่าจะทำไม่ได้ แต่ผมอยากมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์