เจรจา “ทีโอที-อสมท” งานร้อน กสทช. สนองนโยบายรัฐ

5G ถูกปักธงเป็นภารกิจสำคัญที่ “กสทช.” ต้องเร่งสนองนโยบายรัฐ แต่ “คลื่นความถี่” ที่เป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญ โดยเฉพาะย่าน 2600 MHz “บมจ.อสมท” ผู้ถือครองอยู่ ยื่นตัวเลขเยียวยาที่ต้องการสูงถึง 5 หมื่นล้านบาทการเจรจากับ บมจ.อสมท ให้สำเร็จให้เร็วที่สุด จึงเป็นงานร้อนของ กสทช.

“เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อสมท เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ

“ทราบดีว่า คงเป็นไปไม่ได้ว่า กสทช.จะชดเชยให้เท่าที่ขอ คงต้องต่อรอง สิ่งสำคัญคือ ให้เท่าไร ให้เมื่อไร ให้อย่างไร ซึ่งบอกไม่ได้ว่าจะจบที่ตัวเลขใด เพราะก็ต้องตอบผู้ถือหุ้นได้ และยังต้องชดเชยให้กับคู่สัญญาด้วย ซึ่งจะช้าเร็วก็อยู่ที่ กสทช. ที่จะเคาะตัวเลขและวางมัดจำเบื้องต้น ที่เหลือค่อยจ่ายหลังประมูลเสร็จก็ได้”

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่ กสทช.จะต้องเยียวยาตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 ด้วย โดย “อสมท” เองก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ MUX ซึ่งมีลูกค้าหายไปถึง 3 ช่อง จากการขอคืนใบอนุญาตช่องทีวีได้ตามคำสั่ง คสช. ทั้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ อสมท ยังเป็นประธานชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัลด้วย

“MUX เป็นหน่วยงานรัฐ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ กสทช.ก็ควรจะผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่าง อาทิ การใช้ช่องสัญญาณที่เหลืออยู่ให้มีประโยชน์มากขึ้น ด้วยการเปิดให้อัพเกรดการส่งสัญญาณภาพความละเอียดสูงขึ้นได้ เร็ว ๆ นี้ทางชมรมจะมีการยื่นหนังสือไปถึง กสทช.อย่างเป็นทางการ”

อีกเรื่องร้อนของ “กสทช.” ที่ต้องเร่งตามนโยบายรัฐ คือ “เน็ตชายขอบ” โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (zone C+)

แต่โครงการก็ล่าช้าเป็นปี เนื่องจาก “ทีโอที” ผู้ชนะประกวดราคาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ไม่สามารถส่งมอบงานได้ ซึ่งล่าสุด “กสทช.” ได้มีมติยกเลิกสัญญา พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาค่าปรับแล้ว

“มนต์ชัย หนูสง” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำลังรอหนังสือแจ้งเป็นทางการจากสำนักงาน กสทช. เพื่อดูว่าประเด็นที่เป็นปัญหาคือเรื่องใดบ้าง เนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะวิธีการทำงานของ 2 หน่วยงานไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่อง “สายเคเบิล” ที่ใช้ในโครงการ

“พอมีปัญหาเรื่องสายเคเบิล จึงทำให้ทั้งโครงการมีปัญหาไปหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องว่าทีโอทีใช้ของผิดสเป็ก แต่เป็นปัญหาเรื่องที่มาของสายเคเบิล ก็กลายเป็น กสทช.กับทีโอที ยึดกอดตำรากันคนละข้าง เพราะตามระเบียบของสำนักนายกฯ ถ้าสิ่งที่จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศราคาสูงกว่าที่ซื้อจากผู้ผลิตนอกประเทศ ไม่เกิน 5% ให้เรียกผู้ผลิตในประเทศมาต่อรองได้ แต่กรณีนี้ราคาที่ผู้ผลิตในประเทศเสนอให้ทีโอทีสูงกว่าที่ซื้อจากผู้ผลิตต่างประเทศถึง 40% ถ้าทีโอทีไปต่อรองก็จะเกิดคำถามว่าทำไมต้องเรียกมาต่อรอง มีนอกมีในอะไรกันหรือเปล่า”

ส่วนอีกภารกิจสำคัญที่ต้องขึ้นอยู่กับ “ทีโอที” ก็คือการปรับปรุงระบบเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ให้เป็น 10 หลัก ตามแผนแม่บทเลขหมายโทรคมนาคมของ กสทช. ซึ่งมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 12 ธ.ค. 2560 มอบหมายให้ทีโอทีดำเนินการ และ “กสทช.” ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ไปแล้วว่า 1 ม.ค. 2564 ประเทศไทยจะเริ่มใช้เบอร์ 10 หลัก เท่ากันทั้งเบอร์บ้านและเบอร์มือถือ

แต่ “ทีโอที” ไม่มีงบประมาณสำหรับดำเนินการ เพราะไม่เข้าเกณฑ์จะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช. และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นโครงข่ายสำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์

“เมื่อไม่มีเงินทุน ก็ต้องทำตามแผนเดิมของทีโอทีที่จะทยอยปรับปรุงให้ครบในปี 2568 เพื่อไม่ให้เป็นภาระการเงินกับบริษัท”