“หัวเว่ย-จส.100-นอสตร้า” แชร์โนว์ฮาวพัฒนาแพลตฟอร์ม IOT

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกสิ่งมากขึ้น ถ้ามีการนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์มาก ยิ่งร่วมด้วยช่วยกันหลายฝ่ายก็ยิ่งทำให้เกิดมิติในการใช้งานกว้างขึ้นด้วย

ผู้ผลิตอุปกรณ์และโซลูชั่นไอซีที หัวเว่ย สถานีวิทยุ จส.100 และบริษัท โกลบเทค จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูลแผนที่ดิจิทัล และ location contents “นอสตร้า” ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) พัฒนาแพลตฟอร์ม NB-IOT

เพื่อสร้างความร่วมมือในการแบ่งปันโนว์ฮาว และทดสอบแอปพลิเคชั่น “ตามรอย” (Tamroi) ที่จะนำมาให้บริการในการดูแลผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยว รวมถึงการบริหารจัดการของมีค่าสำหรับทั้งองค์กร และบุคคลต่าง ๆ ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น

โดย “หัวเว่ย” ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ และเทคโนโลยี NB-IOT เมื่อนำมารวมเข้ากับข้อมูลแผนที่ดิจิทัล “นอสตร้า” และทีมคอลเซ็นเตอร์ของ จส.100 ทำให้บริการ “ตามรอย” เข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของ “อุปกรณ์” เพื่อประสานงานช่วยเหลือได้ ไม่ว่าจะเป็น “คน” หรือ “สิ่งของ” หายก็ตาม จากประสบการณ์ของ จส.100 ในการประสานงานปัญหาเกี่ยวกับบริการช่วยเหลือกับพันธมิตรด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินต่าง ๆ ทั้งสถานีตำรวจ, โรงพยาบาล, มูลนิธิ หน่วยงานราชการ และอาสาสมัครต่าง ๆ

“คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ” ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ จส.100 กล่าวว่า ถือเป็นบริการด้านการดูแลแก่สาธารณะ และน่าจะช่วยลดจำนวนสถิติการเกิดอุบัติการณ์ 6 อันดับแรกในไทย ได้แก่ อุบัติเหตุ/อุบัติเหตุทางรถยนต์ การเจ็บป่วย คนหาย สัตว์เลี้ยงหาย ของมีค่าหาย และนักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างชาติหายได้

“โรเบิร์ต ฉี” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นผลงานสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของหัวเว่ยกับ จส.100 และนอสตร้า เพื่อนำบริการ IOT มาสู่ประเทศไทย และสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีในการสร้างระบบนิเวศของ IOT ได้ด้วย และเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยวในประเทศไทยได้

ด้าน “ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ” รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้อยู่แค่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงการทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน ได้เดินทางอย่างมีความสุข และมั่นใจในความปลอดภัย ดังนั้น การพัฒนาบริการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจได้จึงน่าจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับการบริการที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตในประเทศไทยได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

“รศ.นพ. รัฐพลี ภาคอรรถ” อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มอาการอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้น และจากสถิติแล้ว ประเทศไทยมีสัดส่วนถึง 10-12% ของประชากรที่อายุเกิน 60 ปี ที่มีกว่า 10 ล้านคน สูงกว่าเอเชียที่มีสัดส่วนแค่ 6% ทั้งยังพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีประวัติหาย และถ้าหายเกิน 24 ชั่วโมง มากถึงครึ่งจะได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากมีเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามตัวได้เร็วขึ้นก็เป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงช่วยผู้ป่วย แต่ยังคลายความกังวลให้คนในครอบครัวได้ เพราะคนหาย 1 คน ทำให้หลายคนในครอบครัวกลุ้มใจ


“ปัญหาของคนป่วยอัลไซเมอร์ คือ ดูภายนอกเหมือนปกติ มีเคสหนึ่งเป็นผู้สูงอายุออกจากบ้านไปทำงานแต่เช้าแล้วไม่กลับมา เพราะความทรงจำที่หายไป คือ ทางกลับบ้าน ทุกคนมีพ่อแม่ ปู่ย่า จึงมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับคนใกล้ตัว”