ดีอีเอส เร่ง “จุฬาฯ” ติดสปีดคัด PPP ดาวเทียมไทยคม ขีดเส้น ก.ย. 63 ได้ผู้บริหารทรัพย์สินต่อหลังสิ้นสุดสัมปทาน แต่หวั่นใจอายุใช้งานเหลือไม่มากพอดึงดูดเอกชนรายอื่น ฟาก “กสทช.” เดินหน้าจัดระเบียบบริการดาวเทียม ปักธงปี”63 ได้ดาวเทียมใหม่ใช้วงโคจร 50.5E
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ลงนามจ้าง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นที่ปรึกษาโครงการการเข้าร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP บริหารทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมกับ บมจ.ไทยคมตั้งเป้าว่า ก.ย. 2563 จะได้บริษัทผู้จะเข้ามาบริหารทรัพย์สินสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้ามารับช่วงมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนสัมปทานดาวเทียมกับไทยคมจะสิ้นสุด ก.ย. 2564
สัญญาจ้างนี้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อ 29 ม.ค. 2562 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ด้วยวิธีการ PPP ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยสัญญาจะครอบคลุมดาวเทียมที่ไม่มีข้อพิพาท คือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 และไทยคม 6 ส่วนดวง 7 และ 8 ต้องรอให้อนุญาโตตุลาการหรือศาลชี้ขาดก่อนว่าเป็นสัมปทานหรือไม่
“ยังมั่นใจว่าที่ปรึกษาจะทำงานได้ทัน แม้จะต้องทำหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่เขียน TOR ทำประชาพิจารณ์เงื่อนไขทั้งหมด จนถึงเป็นที่ปรึกษาคัดเลือกข้อเสนอ PPP ของเอกชน ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่กำหนดไทม์ไลน์แต่ละขั้นตอนให้ละเอียด เพราะมีหลายส่วนที่จะต้องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯเห็นชอบ และส่งให้ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) พิจารณา”
ข้อกังวลสำคัญ คือ ระยะเวลาของดาวเทียมไทยคม 4-5 และ 6 หลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วจะมีศักยภาพในการใช้งานต่อได้อีกราว 8-10 ปี ซึ่งอาจจะไม่ดึงดูดใจเอกชนรายอื่นนอกจาก บมจ.ไทยคม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจะเริ่มกระบวนการจัดสรรใบอนุญาตให้บริการดาวเทียม และเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอใช้สิทธิใช้งานวงโคจรดาวเทียมใหม่ ๆ ได้
ด้าน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ปี 2563 จะเริ่มจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียม โดยเฉพาะการให้สิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมตำแหน่งที่ 50.5 องศาตะวันออก ก่อนที่ไทยจะเสียสิทธิในการใช้งาน หลักเกณฑ์สำคัญคือ เปิดกว้างในแง่ของคุณสมบัติส่วนผู้มีสิทธิขออนุญาตให้บริการดาวเทียมได้ แค่เป็น “บริษัทไทย” แต่ต้องวางแบงก์การันตีเป็นประกัน 5% ของต้นทุนการสร้าง-นำดาวเทียมสู่วงโคจรดาวเทียม พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประสานงานต่าง ๆ กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เองและเมื่อเริ่มใช้วงโคจรจะเสียค่าธรรมเนียมการขออนุญาต 2 ล้านต่อ 1 สิทธิ และค่าธรรมเนียมรายปี 0.25 ของ “รายได้”