สตาร์ตอัพไทยยังน่าสน ? เปิดมุมมอง “นักลงทุน”

กว่า 5 ปีที่รัฐบาลประกาศผลักดัน “สตาร์ตอัพ” อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นการเข้าลงทุนในสตาร์ตอัพทั้งในรูปแบบของ “บุคคล” และ “กองทุน” ต่าง ๆ

แต่ข้อมูลจาก Techsauce Startup Report 2561 ได้เปิดเผยมูลค่าการลงทุนในสตาร์ตอัพไทยปี 2561 ว่า เหลือเพียง 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ตกลงจากปีก่อนหน้าที่มีการลงทุน 105 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการหดตัวครั้งแรกนับแต่ปี 2558

แล้ว “สตาร์ตอัพไทย” ยังน่าลงทุนอีกหรือไม่

Growth & Gain แบบ “วิชัย”

“วิชัย ทองแตง” หนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่เปิดเผยว่า ได้ลงทุนในสตาร์ตอัพแล้วกว่า 10 ราย ในหลายอุตสาหกรรม และคาดว่าอีก 5 ปีจะมี 3 รายที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในสตาร์ตอัพหลายรายมากกว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยซ้ำ บางรายมากกว่าถึง 20 เท่า

“แน่นอนว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพมีความเสี่ยง 10 รายจะมีแค่เพียง 1 ที่จะประสบความสำเร็จ แต่ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ก็สามารถเข้าไปช่วยชี้แนะได้”

แต่ขั้นแรกต้องเริ่มที่การ “คัดเลือก” ก่อนลงทุน โดยดูที่ “2G” คือ growth มีโอกาสเติบโต และ gain แปรไอเดียเป็นรูปแบบธุรกิจได้จริง ไม่เช่นนั้นก็ไร้ค่าที่สำคัญคือมี “ทีม” ที่ดี ไม่ใช่ฉายเดี่ยว และพร้อมพัฒนาต่อเนื่อง

“ถ้าเจอธุรกิจที่ใช่ก็จะลงทุนโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่มีขอบเขต โดยเฉพาะด้านบล็อกเชน พร้อมทุ่มสุดตัว”

ช่วยเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน

ฝั่งองค์กรใหญ่อย่าง “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพมาตลอด

“ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน เปิดเผยว่า กลุ่มทรูสนับสนุน “สตาร์ตอัพ” ทั้งในรูปแบบการสร้าง inspire ผ่าน “ทรูแล็บ” ที่ตั้งแล้วใน 10 มหาวิทยาลัย และลงทุนในสตาร์ตอัพระดับมหาวิทยาลัยรายละ 50,000-100,000 บาท ซึ่งปีนี้จะเน้นไปสถาบันการศึกษาส่วนภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงการลงทุนกับสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพ

โดยโฟกัสในนวัตกรรมด้านอาหาร การเกษตร โรโบติก เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที ออโตเมชั่น เฮลท์

“ทรูตั้งเป้าสนับสนุนสตาร์ตอัพระดับมหาวิทยาลัย 100 แห่ง โดยจะพยายามลงทุนให้มากราย มากที่สุด เพราะสตาร์ตอัพโดยปกติจะประสบความสำเร็จแค่ 10% หรือน้อยกว่า ซึ่งการที่ทำให้เกิดสตาร์ตอัพตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยจะทำให้เขาได้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น จดจำความผิดพลาดได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ลงทุนไปครบแล้ว 100 แห่ง แต่เมื่อมีรายใดล้มหายตายจากไปก็จะคัดเลือกรายใหม่เข้ามาให้ครบ 100 แห่ง ปีแรกก็หายไป 60 ราย ก็เติมเข้ามาเพิ่ม”

จุดอ่อนของสตาร์ตอัพไทย คือ

1.ต้องหา “จุดแข็ง” ของตัวเองให้ได้ ที่ผ่านมาหลายรายใช้การนำไอเดียของสตาร์ตอัพต่างประเทศเข้ามาพัฒนาให้เป็นของคนไทย

2.ไม่มี “core technology” เป็นของตนเอง จะเน้นแต่แค่ service จึงทำให้ถูกเลียนแบบได้ง่าย

“ช่วงหลังจีงพยายามเน้นว่า ให้สตาร์ตอัพเข้ามาเกาะเกี่ยวเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย เช่น เทคโนโลยีการแพทย์ หรืออื่น ๆ ที่มีสิทธิบัตร เพื่อไม่ให้ถูก copy ไอเดียได้ง่าย ๆ”

ส่วนจุดแข็งของสตาร์ตอัพไทย ยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย คือ มี “พลัง” เยอะมาก สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจะลองผิดลองถูกได้เร็ว

“ในภาคเอกชนกว่าจะออกโปรดักต์ใหม่ได้ ต้องใช้เวลา 6 เดือน แต่สตาร์ตอัพรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีความเสี่ยงอะไรก็พร้อมลุยได้ทันทีเมื่อมีไอเดีย บางราย 3 สัปดาห์ออกโปรดักต์ได้เลย การที่กลุ่มทรูฯเข้าไปร่วมลงทุน ร่วมสนับสนุน ก็ยิ่งทำให้เด็กรุ่นใหม่คิดเร็ว ทำเร็วได้มากยิ่งขึ้น หากพลาดก็เริ่มใหม่ได้เร็ว เป็นการเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน”

เจอแต่เร่ขาย Story

ด้าน “อนันต์ แก้วร่วมวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวถึงสาเหตุที่เป็นองค์กรใหญ่ แต่ไม่ได้ตั้ง corporate venture capital : CVC เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพว่า เนื่องจากเป็นคณะกรรมการ VC ของ บมจ.อินทัชและได้รู้จักคนที่เข้าไปลงทุนใน VC มากพอสมควร รวมถึงผ่านไซเคิลของการลงทุนในสตาร์ตอัพมาเยอะ ได้เห็นว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย”

“ในแง่ของบริษัท ย่อมต้องการนวัตกรรมหรือโปรดักต์จากสตาร์ตอัพไปใช้หรือไปทำธุรกิจต่อ แต่ที่ทำได้จริงมีแค่ 1% เท่านั้น ที่เป็นธุรกิจได้จริง จึงเป็นเรื่องเสียเวลา ยกเว้นแต่จะเป็นผู้ลงทุนที่มีเงินถุงเงินถัง อย่างซอฟท์แบงก์ที่เพิ่งลงทุนไประดับหมื่นล้านบาทกับสตาร์ตอัพได้ สตาร์ตอัพที่เจอกันตอนนี้คือขาย story แต่ตัวจริงเสียงจริงหาไม่ได้ง่าย ๆ เพราะเขาเลยจุดที่จะเร่ขาย story แล้ว แถมเราดั้นด้นไปขอลงทุนด้วยก็ยังปฏิเสธ”

ฉะนั้นในการลงทุนสตาร์ตอัพจึงไม่ใช่ดูที่ story แต่ต้องดูว่าจะ exit เมื่อไรด้วย เพราะหลายสตาร์ตอัพ story ดี แต่ในระยะยาวจะไปไม่รอด

“ในแง่ธุรกิจ เรารอให้ succeed ไม่ได้ ฉะนั้นซื้อที่ทำเสร็จแล้วมาใช้ทันทีเลยดีกว่า fast track ไปเลย”

หมดช่วง “เห่อ” แล้ว

ด้าน “กฤษณ์ ณ ลำเลียง” นายกสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) และหนึ่งในนักลงทุนสตาร์ตอัพกลุ่มแรก ๆ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยลงไปประมาณ 10 ราย ตั้งแต่ระดับ seed เช่น “เพย์สบาย” ผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ส่วนที่ได้รับเงินลงทุนมากสุด คือ “Fastwork” แพลตฟอร์มฟรีแลนซ์ ที่ขยายไปอยู่ระดับซีรีส์ A แล้ว

“ตลาดสตาร์ตอัพ ตอนนี้ผ่านช่วงเห่อสตาร์ตอัพแล้ว ที่จะไปต่อได้ ต้องมีอินโนเวชั่นในระดับหนึ่ง และสุดท้ายก็จะมาเจอปัญหาตลาดไทยที่ไม่ใหญ่มาก”

ส่วนการคัดเลือกสตาร์ตอัพที่จะเข้าลงทุน ส่วนใหญ่จะดูที่ศักยภาพของ “ทีม”

“จากนี้คงไม่ลงทุนในสตาร์ตอัพแล้ว เพราะไม่ได้มีใครที่น่าสนใจ และด้วยต้นทุนต่ำ ทำให้สตาร์ตอัพไทยตายยาก คืออยู่ไปเรื่อย ๆ แต่สตาร์ตอัพที่ดีต้องโตเร็ว ยอมตายเพื่อไปเกิดใหม่ดีกว่า”

ดีป้าร่วมลงทุนปีละ 50 ล้าน

ด้านหน่วยงานรัฐที่มีงบประมาณ “ร่วมลงทุน” กับสตาร์ตอัพจำนวนมากอย่าง “ดีป้า” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการดีป้า เปิดเผยว่า ได้เข้าไปถือหุ้นใน 50 สตาร์ตอัพแล้ว โดยร่วมลงทุนรายละ 1 ล้านบาท ส่วนงบประมาณอุดหนุนอื่น ๆ อาทิ จัดอีเวนต์จับคู่ธุรกิจ-ภาครัฐ จัด Hackathon เบ็ดเสร็จดีป้าในปีงบประมาณ 2562 ใช้งบฯ 57 ล้านบาทต่อปีสำหรับสตาร์ตอัพ แต่ไม่รวมงานใหญ่ประจำปีอย่างไทยแลนด์บิ๊กแบง เพื่อโชว์ศักยภาพของประเทศและสตาร์ตอัพไทยที่ปีนี้ใช้งบประมาณ 75 ล้านบาท

“ปีนี้จะมุ่งสนับสนุนสตาร์ตอัพ คือ สุขภาพ การเกษตร การท่องเที่ยว บริการภาครัฐ และปีงบประมาณ 2563 ก็น่าจะใช้งบประมาณสนับสนุนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตมากขึ้น เพราะในตลาดมีสตาร์ตอัพจำนวนมากที่มีศักยภาพ”