สร้างจุดต่างขยายฐานผู้ใช้ ย้ำจุดยืน Tencent ในไทย

เป็นอีกหนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจออนไลน์สำหรับ Tencent และได้ฝังตัวเข้ามาลงทุนในไทยเกือบ 10 ปีแล้ว จนวันนี้มีครบทั้งแพลตฟอร์มข่าว Sanook เอ็นเตอร์เทนเมนต์ JOOX WeTV รวมถึงเกม ล่าสุดขยายสู่ตลาดองค์กรธุรกิจด้วยบริการไอทีโซลูชั่น-คลาวด์ เรียกว่าลงสนามในทุกสมรภูมิเดือด “ประชาชาติธุรกิจ” อัพเดตธุรกิจ กับแม่ทัพใหญ่ “กฤตธี มโนลีหกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย)

Q : Over the Top แข่งเดือด

สำคัญที่ต้องสร้างความแตกต่าง แต่ก็มีคอนเทนต์ที่หลากหลายเจาะตลาด mass เพราะเป้าหมายของเรา คือ ทำให้ผู้ใช้งานต่างจังหวัดชื่นชอบด้วย อย่าง WeTV ที่เปิดตัวล่าสุด มีจุดยืนคือเป็นไชนีสคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุด เพราะบริษัทแม่อย่างเทนเซ็นต์เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในจีน และยังมีคอนเทนต์เกาหลี รวมถึงของไทย ซึ่งจะเน้นในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ มากกว่าให้เป็นช่องทาง rerun ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่ต่างจากคนอื่น ตั้งใจจะสร้าง 2 เรื่องต่อไตรมาส

Q : กลยุทธ์ที่เปลี่ยนชัดเจน

เดิมเป็นธุรกิจ B2C มี Sanook JOOX เกม แต่เมื่อปลายปีที่แล้วได้มีการ reorganization เซตอัพธุรกิจใหม่ คือ cloud & smart industry group เป็น B2B ซึ่งลงทุนในหลายบริษัทมานานแล้ว แต่เพิ่งเปิดเป็น commercial โดยมีลูกค้าเป้าหมายอย่าง MICE business travel, healthcare, government และภาคการเงิน ซึ่งเรามีลูกค้าแล้วในแง่รายได้ 60-70% มาจาก Sanook, JOOX, PUBG ครึ่งหนึ่งมาจากโฆษณาและ sponsorship

Q : เจาะทั้งกลุ่มเด็ก-ผู้ใหญ่

หลัก ๆ คือ กลุ่มเด็ก แต่กลุ่มผู้ใหญ่ที่เดิมมีแค่ Sanook แต่ก็จะขยายมากขึ้น อย่างการที่นำเทคโนโลยี text to speech มาใช้ มี podcast แล้วนำคอนเทนต์เสียงเหล่านี้ไปอยู่ใน JOOXแล้วด้วย 60% ของผู้ใช้ Sanook อยู่ในต่างจังหวัด จึงได้เพิ่ม Sanook 77.co ที่เป็น location based ดึงคอนเทนต์ระดับภูมิภาคมาเสิร์ฟผู้ใช้งานก็เสริมจุดแข็งส่วนนี้ เพราะ Sanook ได้เปรียบในแง่ที่เป็นแบรนด์ที่มีอายุ 21 ปี แต่ตลาดยังไม่มีผู้ให้บริการเฉพาะกับกลุ่มนี้ ขณะที่ตลาดออนไลน์ยังมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก และยังกระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ รวมถึงฐานผู้ใช้ยังเป็นกลุ่มเด็ก-วัยรุ่น

Q : คนรุ่นใหม่ก็คุ้นกับ LINE กว่า

ช่วงนี้มีแต่ fake news ก็เป็นโอกาสที่อยากจะบอกว่า ถึงเวลาที่จะอ่านคอนเทนต์จากเว็บคอนเทนต์จริง ๆ เถอะ แต่เราก็ลงทุนทั้งด้านคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง เทคโนโลยี สร้างความต่าง

Q : อุปสรรคธุรกิจปีนี้ ปีหน้า

การที่มีเพลเยอร์เข้ามาในตลาดเยอะขึ้น อินฟราสตรักเจอร์ของไทยก็ดีขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงแอปพวกนี้ได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่จะเป็นแบบใช้อะไรแป๊บหนึ่งก็จะเปลี่ยนแล้ว พร้อมไปใช้แอปอื่นได้เลย กลุ่มอายุ 13-14 ปี จะเป็นแบบนี้ตลาดไทยเริ่มถึงจุดที่จำกัด จะมีผู้ใช้งานอยู่แค่นี้ นอกจากว่าคุณจะมีกลุ่มใหม่ อย่างกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุหน่อย ซึ่งก็ต้องให้เวลาเขาได้เรียนรู้ ฉะนั้นจะโฟกัสแค่ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้

Q : วิธีทลายข้อจำกัด

การสร้าง engagement กับผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด ผูกใจกับแบรนด์เราให้ได้มากที่สุด แค่ top of mind อย่างเดียวอาจจะไม่พอด้วยซ้ำ ถึงต้องมีอีเวนต์ มีตแอนด์กรี๊ด คอนเสิร์ต กิจกรรมอีสปอร์ต

จะเป็นแค่แพลตฟอร์มไม่ได้แล้ว

Q : เป็นผู้ผลิตอีเวนต์-คอนเทนต์

จุดยืนเราคือบริษัทเทค ไม่ใช่อีเวนต์หรือคอนเทนต์ แม้ว่าเราใช้กลยุทธ์ O2O เพื่อสร้าง engagement ส่วนรายได้ที่เข้ามาเป็นแค่ผลพลอยได้อย่างปีที่แล้ว เราจัด 15 อีเวนต์สำหรับเกม PUBG และ 20 อีเวนต์สำหรับ JOOX ซึ่งปีนี้ก็คงไม่เพิ่มขึ้น หากจะมีเพิ่มก็จะเป็นในส่วนแฟนมีตของ WeTV ซีรีส์ต่าง ๆ หรือทำเพื่อซัพพอร์ตสปอนเซอร์

Q : แต่คอนเทนต์สร้างรายได้ดี

การสร้างรายได้จากคอนเทนต์เป็นเหมือนการซื้อลอตเตอรี่ เราจะไม่รู้จะต้องซื้อกี่ใบ ใบที่ซื้อจะถูกไหม เรื่องที่สร้างจะฮิตไหม ฉะนั้นเป็นแพลตฟอร์มดีกว่า ต้องโฟกัสจุดยืนที่ core business

แม้ในไทยยังอยู่ในช่วงที่ต้องลงทุน ทั้งคอนเทนต์ การตลาด การสร้างอีโคซิสเต็ม แต่เอาเป็นว่าในแง่ของเงินที่ใช้กับมาร์เก็ตติ้ง รายได้เรา cover แล้ว

Q : WeChat-WeChatPay

WeChat เราไม่โปรโมตมา 7 ปีแล้ว เพราะมี LINE เข้าตลาดก่อน แล้ว instant messenger ถ้าใช้แล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเปลี่ยน เราจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเป็นการขายโฆษณาบน WeChat ให้ธุรกิจไทยที่ต้องการเจาะตลาดจีน ก็เหมือนบริการอีเพย์เมนต์ แม้บริษัทแม่จะมี WeChatPay แต่ในไทยก็คงไม่เอาเข้ามาให้บริการ เพราะจำเป็นต้องมีฐานคนใช้มากพอ

Q : จะนำบริการเทนเซ็นต์อื่นเข้ามา

ล่าสุดเราไปลงทุนในบริษัทอุ๊คบี แล้วแยกส่วนเฉพาะการ์ตูนออกมาให้ทีม Tencent Comic มาบริหาร เปลี่ยนแบรนด์เป็น WeComics เมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตลาดนี้มีผู้ใช้งานที่ยอมจ่ายเงินเพื่อใช้บริการมากพอ ๆ กับคนที่ยอมจ่ายเพื่อเล่นเกม ซึ่ง WeComics จะเน้นผลงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง จาก Tencent เอามาแปลเป็นภาษาไทย