เฟซบุ๊กกับความน่าเชื่อถือ

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ถ้าพูดถึงภาวะขาลงของวงการสตาร์ตอัพขณะนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดตัวพ่ออย่าง “เฟซบุ๊ก” นับจากข่าวฉาวกรณีทำข้อมูลลูกค้าหลุดเมื่อปีก่อน ชื่อเสียงและความ “น่าเชื่อถือ” ของเฟซบุ๊กและตัวผู้ก่อตั้งอย่างมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็เสียหายหนัก แม้ยังครองเบอร์หนึ่งในฐานะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ด้วยฐานลูกค้ากว่า 2.4 พันล้านคน

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ใช้งานโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และผู้หวงแหนข้อมูลส่วนตัวเริ่มหันไปใช้แพลตฟอร์มอื่นมากขึ้น

มาปีนี้โปรเจ็กต์ cryptocurrency ”Libra” ของเฟซบุ๊กก็ดูส่อแววจะล่มอีก หลังโดนผู้คุมกฎทั้งในและต่างประเทศ ตั้งคำถามรัว ๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของระบบ การรักษาข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ การป้องกันไม่ให้ถูกใช้ในธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ฟอกเงิน เลี่ยงภาษีและเป็นเส้นทางการเงินของผู้ก่อการร้าย

ทั้งยังกังวลความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อาจส่งผลต่อธนาคารกลางของประเทศในการกำหนดนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจกระทบเป็นวงกว้าง

เฟซบุ๊กพยายามอธิบายว่า Libra มีเป้าหมายอัน “ยิ่งใหญ่” ในการช่วยคนยากจนกว่า 1.7 พันล้านคนทั่วโลก “เข้าถึง” บริการทางการเงินโดยเฉพาะโอนเงินข้ามพรมแดน แถมยัง “เสถียร” กว่า cryptocurrency อื่นเพราะผูกติดกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์และยูโร

แต่ผู้กำหนดนโยบายก็ยังไม่ “ซื้อ” ไอเดียนี้ เพราะมองว่าบริการโอนเงินข้ามพรมแดนในปัจจุบันก็ไม่ได้ขี้เหร่ และมีรายใหม่เข้ามาเติมเต็มความต้องการในส่วนนี้ตลอด อย่าง Ripple สตาร์ตอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการโอนเงินข้ามประเทศภายในไม่กี่วินาทีในราคาประหยัด แถมดีกว่า Libra ตรงที่ทำงานร่วมกับธนาคารท้องถิ่นทำให้สอบเส้นทางการเงินได้ด้วย

ส่วนการ “เข้าถึง” บริการการเงินมากขึ้น ก็มีค่ายมือถือทำกันอยู่แล้ว อย่าง M-Pesa ของเคนยาที่ให้คนยากจนทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้โดยไม่ต้องมีบัญชีธนาคารจนกลายเป็นต้นแบบบริการ M-Banking เพื่อคนชายขอบในอีกหลายประเทศทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์เลยมองว่าที่เฟซบุ๊กเข็นโปรเจ็กต์นี้ ก็เพื่อหาเงินเข้ากระเป๋านั่นแหละ เพราะทุกธุรกรรมจะมีค่าธรรมเนียม “เล็ก ๆ น้อย ๆ” (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเท่าไหร่) แต่แค่ 10% ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก 2.4 พันล้านคนหันมาใช้ Libra ก็เป็นเงินมหาศาลแล้ว

ณ วันที่เขียนต้นฉบับนี้ ดูเหมือนผู้กุมกฎจะสรุปในทิศทางเดียวกันว่าควรให้หยุดโครงการ Libra ไว้ก่อน แถมพันธมิตรที่เคยประกาศจับมือกันแน่นในฐานะสมาชิก Libra Association Council ก็ยังมาตีตัวออกห่างอีก

เริ่มจาก PayPal ที่ตัดสินใจประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกไปเมื่อต้นเดือน ตามมาติด ๆ ด้วย Mastercard Visa Stripe eBay Booking.com และ Mercado Pago โดยแก้เกี้ยวว่าอยากรอจนกว่ากฎระเบียบจะชัดเจนเสียก่อน

แต่เฟซบุ๊กยังเดินหน้าเปิดตัว Libra Association Council อย่างเป็นทางการที่กรุงเจนีวาตามกำหนดการเดิม

แม้สมาชิกรุ่นก่อตั้งจะลดลงจาก 28 เป็น 21 บริษัท ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ว่า Libra จะให้บริการได้หรือไม่และเมื่อไหร่ ตัวมาร์กเองถึงขั้นบอกตอนประกาศผลประกอบการกลางปีว่าจะพยายามโน้มน้าวภาครัฐให้เกิดความเชื่อมั่นใน Libra ต่อไปไม่ว่าจะใช้เวลา “นานเท่าไรก็ตาม”

ผลลัพธ์จะออกมาหมู่หรือจ่าก็ต้องลุ้นกัน แต่ที่แน่ ๆ งานนี้ไม่หมูแน่นอน เพราะต้นตอไม่ได้มาจากปัญหาเชิง “เทคนิค” อย่างเดียว

แต่ตราบใดที่ปัญหาเรื่อง “ความน่าเชื่อถือ” ยังไม่ได้รับการแก้ไข เทคโนโลยีใด ๆ ก็ช่วยไม่ได้ หากสังคมยังไม่เห็นความ “จริงใจ” ในการแก้ไขปรับปรุงการทำธุรกิจให้ “โปร่งใส” และมี “ธรรมาภิบาล” อย่างแท้จริง

วันนี้เฟซบุ๊กไม่ใช่สตาร์ตอัพตัวน้อยและมาร์กก็ไม่ใช่เด็กเนิร์ดวัยใสอีกต่อไป การเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลกย่อมมาพร้อมความรับผิดชอบมหาศาลทำให้คำว่า “ขอโทษ” คำเดียวคงไม่พออีกต่อไป