Facebook ร่วมชิงแชร์ตลาดเกม

จากการขยายตัวอุตสาหกรรมเกมจนปัจจุบันมีมูลค่าเม็ดเงินสูงกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเพลงรวมกัน มีผู้เล่นทั่วโลกถึง 2.5 พันล้านคน ส่งผลให้หนึ่งในผู้นำแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง “Facebook” กระโจนเข้ามีส่วนร่วม เริ่มจากเปิด “Facebook Gaming Creator” ในไทยเมื่อปีที่แล้ว

ล่าสุดเลือกไทยเป็นประเทศที่ 4 ที่เปิดตัว “Facebook Gaming” คอมมิวนิตี้ สำหรับคนเล่นเกมโดยเฉพาะ รองจากบราซิล, ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก

“ไมเคิล โรส” ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรเกมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Facebook เปิดเผยว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ชุมชนการเล่นเกมเติบโตรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นผู้นำเทรนด์เกมมิ่ง เป็น top 5 ของโลกที่มีการสตรีมมิ่งเกมและการรับชมวิดีโอบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ซึ่งมียอดผู้ใช้แอ็กทีฟถึง 39 ล้านคน/วัน โดยการสตรีมมิ่งเกมเติบโตถึง 38% การรับชมเติบโตเท่าตัว มีการส่งไอเท็มในเกม กว่า 16.6 ล้านดวงในเดือนที่ผ่านมา และจำนวนครีเอเตอร์เติบโตถึง 85%

“ชุมชนเกมถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเฟซบุ๊ก เพราะมีผู้ที่เล่นเกมและรับชมคอนเทนต์เกมถึง 700 ล้านคนในแพลตฟอร์ม โดย 55% เป็นเกมเมอร์หญิง”

สำหรับ Facebook Gaming ได้แยกฟีเจอร์เกมมิ่งในเฟซบุ๊กออกมา เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของคอมมิวนิตี้ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาคอนเทนต์เกมได้ง่ายขึ้น สามารถเล่นเกม และแบ่งปันคอนเทนต์เกมที่ตนเองชื่นชอบได้ในที่เดียว และยังนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์มาเพื่อเหล่าเกมเมอร์โดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย

“จุดแข็งของเฟซบุ๊กคือสามารถเข้าถึงคนได้จำนวนมากและมีความหลากหลายกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ”

กลยุทธ์ของเฟซบุ๊กจะเน้นการสร้างการเติบโตของชุมชนเกมให้ยั่งยืน โดยมีโปรแกรม “Level Up” สำหรับแนะนำครีเอเตอร์หน้าใหม่ในการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทำงานรวมทั้งการสร้างรายได้ และโปรแกรม “ครีเอเตอร์เกม” ที่ช่วยส่งเสริมบรรดาครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วให้สามารถสร้างและขยายชุมชนเกมบนแพลตฟอร์มของพวกเขา

นอกจากนี้ยังร่วมกับพาร์ตเนอร์ในไทย อาทิ Magic Box และ Online Station ที่เป็นผู้ให้บริการครีเอเตอร์ชั้นนำของภูมิภาค นอกจากนี้กลับมาร่วมงาน Thailand Game Show 2019 เป็นปีที่ 2เพื่อสร้างสรรค์ชุมชนเกมในโลกแห่งความเป็นจริง

“ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จากผู้ชมที่ส่งไอเท็ม Stars ให้กับสตรีมเมอร์ที่ชื่นชอบ โดยราคาของสตาร์จะเริ่มต้นที่ 20 บาท 45 ดวง ไปจนถึง 500 บาท 1,200 ดวง และมีโหมดติดตามที่ Substation ในการจ่ายเงินเพื่อดูคลิปวิดีโอเอ็กซ์คลูซีฟ นอกจากนี้จะมีรายได้จากโฆษณาคั่น ซึ่งเฟซบุ๊กเองจะมีรายได้จากส่วนแบ่งเหล่านี้”