เอื้อรายใหม่-ต่างชาติ ? งานหินเปิดเสรี “ดาวเทียม”

ใกล้คลอดเข้ามาทุกทีกับการออกประกาศ 3 หลักเกณฑ์ของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จะเป็นการนับหนึ่ง “เปิดเสรี” ธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ

ประเดิม 50.5E

“พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ” รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่างประกาศทั้ง 3 ฉบับจะประกาศบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้ และในปี 2563 กสทช.เตรียมจะจัดสรรใบอนุญาตดาวเทียม โดยเฉพาะการให้สิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมตำแหน่งที่ 50.5 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นตำแหน่งวงโคจรที่พร้อมใช้งานได้ทันที

“ใจอยากให้มีบริษัทดาวเทียมอย่างไทยคมเพิ่มขึ้นอีกเจ้าสองเจ้า และไทยได้ใช้ประโยชน์จากดาวเทียมต่างชาติ แต่ธุรกิจไทยก็ต้องอยู่ได้ด้วย ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ กสทช.จะต้องบาลานซ์ให้ได้ทั้งการเปิดเสรีธุรกิจดาวเทียมตามนโยบาย เพราะหากไม่เปิดเลยจะทำให้ตลาดไม่มีโอกาสใหม่ ๆ จากผู้บริการรายอื่นเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าบริษัทไทยในปัจจุบันมีศักยภาพพอที่จะเข้าสู่ธุรกิจนี้ ทั้งด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่มีราคาถูกลง และเทรนด์ดาวเทียมวงโคจรต่ำ”

ใหม่เกิดยาก-รายเก่าอยู่ลำบาก

ด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ไทยคม เปิดเผยว่า เกณฑ์ของ กสทช.ไม่ได้เอื้อให้เกิดผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่เข้าสู่ตลาด เพราะมีภาระต้นทุนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สูงกว่าประเทศอื่น ทั้งยังสูงกว่าการ “เช่าใช้” ดาวเทียมต่างชาติ ซึ่งสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากประกาศใช้ร่างนี้

“กสทช.ระบุเองว่า ประเทศอื่นเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการเบ็ดเสร็จแค่ 1% แต่ไทยจะมีค่าสลอตวงโคจร 0.25%+ค่าธรรมเนียมไลเซนส์ที่ 4% และอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่มอย่างเงินสมทบเข้ากองทุน USO อีก ฉะนั้นอย่าว่าแต่รายใหม่จะเกิดได้เลย รายเก่าก็อยู่ยาก”

ในมุมของผู้ประกอบการรายใหม่ หากจะยิงดาวเทียมใหม่ ต้องวางหลักประกันดำเนินการ 5% ของต้นทุนการสร้างดาวเทียมและการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร และยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการประสานงานกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ค่าประสานคลื่นความถี่ ขณะที่หากทำธุรกิจด้วยการเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของต่างชาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้

“มองว่า รายใหม่ในตลาดดาวเทียมที่จะเกิดขึ้นก็คือ รายเดิมที่เคยให้บริการด้วยการใช้ดาวเทียมต่างชาติอยู่แล้ว อย่างมิว สเปซ, IPM ก็จะสามารถทำธุรกิจได้อย่างถูกกฎหมาย แต่คงไม่น่าจะเห็นรายใหม่ของไทยที่ยิงดาวเทียมเอง”

ตำแหน่งดี “ไทยคม” ครองแล้ว

ขณะที่แหล่งข่าวบริษัทโทรคมนาคมรายหนึ่งเปิดเผยว่า เกณฑ์ของ กสทช. ทำให้การยิงดาวเทียมดวงใหม่ภายใต้สิทธิวงโคจรของไทย เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าการใช้ดาวเทียมต่างประเทศ ทั้งยังเป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการรายใหม่

“ในวงการดาวเทียมเป็นที่รู้กันว่า ในไฟลิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ ตำแหน่งวงโคจรที่ 78.5 องศาตะวันออก คือตำแหน่งที่ดีที่สุด ไทยคมถึงมีอยู่ 3 ดวง ส่วนตำแหน่งวงโคจรอื่น ๆ น่าสนใจไม่มากนัก ถ้าอันไหนที่มีโอกาสทางธุรกิจ ไทยคมก็ยิงดาวเทียมขึ้นไปแล้ว”

ประเด็นคือ หากดาวเทียมเดิมยังมีอายุการใช้งานอยู่ ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า รายใหม่อาจจะยิงดาวเทียมขึ้นไปไม่ได้ เพราะตามกฎ ITU ต้องได้รับความยินยอมจากรายเก่าที่ใช้ตำแหน่งวงโคจรเดียวกันก่อน ส่วนตำแหน่งโคจรที่ว่างอยู่ ก็ไม่ได้มีโอกาสธุรกิจที่คุ้มค่ามากพอ การจะมีผู้ประกอบการรายใหม่จึงเป็นเรื่องยาก ไม่รวมเรื่องต้นทุนธุรกิจที่ทำให้แข่งขันยากด้วย

เงินค้ำประกันสูงอาจถอดใจ

“สุวิทย์ พฤกษ์วัฒนานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มิว สเปซ คอร์ป จำกัด บริษัทสตาร์ตอัพที่มีเป้าหมายจะยิงดาวเทียมสัญชาติไทยสู่วงโคจร เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมีหลักเกณฑ์กำกับดูแลสำหรับการยิงดาวเทียมดวงใหม่ บริหารดวงเดิม และการใช้ดาวเทียมต่างชาติ เป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรม ซึ่งมิว สเปซ ได้รอมากว่า 2 ปีแล้ว หากประกาศใช้ก็จะทำให้เดินหน้าธุรกิจดาวเทียมได้ทันที

“วิสัยทัศน์ของมิว สเปซ คือต้องการมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง แต่เงื่อนไขการวางเงินมัดจำของ กสทช. ที่ระบุให้ต้องวาง 5% ของมูลค่าโครงการ ซึ่งหากตีประเมินโครงการดาวเทียมอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ก็เท่ากับว่า ต้องวางประกัน 250 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูง และยังไม่ชัดเจนด้วยว่า หากประสานงานกับ ITU ไม่ผ่านแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่อย่างไร เงื่อนไขนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดของโอเปอเรเตอร์รายใหม่ ซึ่งถ้าหาก กสทช.ยังคงเงื่อนไข 5% ไว้ เราอาจจะไม่ทำดาวเทียมของตัวเอง

เพราะการเช่าใช้ดาวเทียมของต่างชาติมีต้นทุนที่ถูกกว่า และหาก กสทช.ไม่ระบุให้ชัดเจนว่า ผู้จะใช้ดาวเทียมต่างชาติมาให้บริการในไทยได้ต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทยเท่านั้น ก็จะได้เห็นยักษ์ใหญ่ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาในไทยมากกว่ารายใหม่จริง ๆ ฉะนั้น การจะเปิดเสรี มีผู้ประกอบการใหม่เข้ามาในตลาดได้หรือไม่อยู่ที่ กสทช.จะมีกฎที่เอื้อหรือไม่”

“แคท” เป็นอีกตัวเลือกได้

ด้าน “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงสนับสนุนการเปิดเสรีดาวเทียม แต่ต้องอยู่บนจุดยืนที่ต้องมีผู้ประกอบการไทยมากกว่าต่างชาติ บริษัทที่ให้บริการก็ต้องมีผู้ถือหุ้นไทยในสัดส่วนที่มากกว่า และภาครัฐต้องสามารถกำกับดูแลได้ ไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีเพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้อย่างอิสรเสรี

“ดาวเทียมถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ภาคธุรกิจไทยควรมีโอกาสเข้าสู่ธุรกิจนี้ ไม่ใช่มีแค่รายเดียวในตลาด อย่างน้อยแคท (บมจ.กสท โทรคมนาคม) ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้ และเชื่อว่ายังมีบริษัทไทยอีกมากที่มีศักยภาพที่จะทำธุรกิจนี้ได้ โดยเฉพาะการให้บริการด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำอย่างของ SpaceX”