ย้ายค่ายเบอร์เดิม ปัญหาที่ “กสทช.” มองไม่เห็น

ย้ายค่ายเบอร์เดิมหรือที่เรียกทางการ ว่า “บริการคงสิทธิเลขหมาย” ซึ่งเมื่อแรกเริ่มตั้ง “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ถูกหยิบยกให้เป็นหนึ่งใน “สิทธิของผู้บริโภค” ที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้สามารถนำเลขหมายโทรศัพท์ย้ายไปใช้งานกับค่ายมือถือใดก็ได้

แต่ผ่านมา 8 ปี ความยากลำบากในการขอย้ายค่ายยังคงถูกกล่าวถึงในโลกออนไลน์ กลายเป็นอีกสิ่งที่ผู้บริโภคต้องยอมรับถึงความยากลำบากหากประสงค์จะใช้สิทธิ

“ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหา “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” หรือบริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ยังเป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องอดทนอย่างมากและไม่ได้รับการแก้ไขให้หายไปอย่างสิ้นเชิง รองจากปัญหา SMS ขยะที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าสำนักงาน กสทช.จะพยายามแก้ไขด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการขอใช้สิทธิด้วยการกดขอรหัสย้ายค่ายผ่านระบบอัตโนมัติ “*151” ตั้งแต่ ม.ค. 2560

เกมทดสอบความอึด !

“ทุกวันนี้การย้ายค่ายเบอร์เดิมของผู้บริโภค เป็นเหมือนเกมทดสอบความอึด ความอดทน ว่าจะสู้กับการยื้อไม่ให้ย้ายค่ายได้มากน้อยแค่ไหน บางรายถูกยื้อเป็นเดือนจนต้องถอดใจทนใช้งานกับค่ายเดิม ยกเว้นว่าจะมาร้องเรียนกับ กสทช. ซึ่งก็จะได้ย้ายแน่ ๆ แต่ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น”

สำหรับข้ออ้างที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถย้ายได้ คือ “ยังมีหนี้ค้างชำระ” แม้ว่าจะเป็นบริการแบบพรีเพด (เติมเงิน) ซึ่งไม่ควรจะต้องมีค่าบริการค้างชำระ เพราะลูกค้าเติมเงินเข้าระบบไปล่วงหน้าแล้วถึงสามารถใช้บริการได้กับ “รหัสย้ายค่าย (PIN) หมดอายุ” หรือ PIN ผิด ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่สามารถแก้ไขได้ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการปรับตัวของค่ายมือถือให้เข้ากับระบบ MNP ใหม่ เพื่อสร้างรูปแบบการยื้อไม่ให้ลูกค้าย้ายค่าย ซึ่งต้องถามว่า 8 ปีที่ผ่านมาแก้ไม่ได้หรือไม่ได้อยากจะแก้ แม้ว่าสถิติการย้ายค่ายสำเร็จของระบบจะดีขึ้น แต่ก็เป็นการดีขึ้นแบบคงตัวในระดับแย่ ๆ”

โดยปัจจุบันอัตราการย้ายค่ายสำเร็จอยู่ที่ราว 80% และบางช่วงบางค่ายมีอัตราการย้ายสำเร็จแค่ 40% เท่านั้นถือว่าผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามทวงติงและตั้งข้อสังเกตเรื่องการพัฒนาระบบ MNP audit ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้ดำเนินการตั้งแต่ มิ.ย. 2559 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบกระบวนการโอนย้ายและการกีดกันการโอนย้าย แต่ปัจจุบันก็ยังปรับปรุงระบบไม่เสร็จ

ย้ายเบอร์แต่หนี้ไม่ไป=ปัญหา

ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ด้านโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ความต้องการในการย้ายค่ายเบอร์เดิมลดลงจากแต่ก่อนมาก เนื่องจากพ้นช่วงสิ้นสุดสัมปทานของ 3 ค่ายมือถือ ซึ่งเป็นจังหวะที่ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างต้องการช่วงชิงลูกค้าในระบบสัมปทานของคู่แข่งให้ได้

“สถิติการโอนย้ายสำเร็จดีขึ้น อยู่ที่ราว 70-80% ของผู้ขอใช้สิทธิ แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์ยื้อลูกค้าอยู่ ซึ่งกำลังหาวิธีแก้ปัญหาให้ดีขึ้น เนื่องจากระบบ MNP ยังใช้เคลียริ่งเฮาส์แบบต่างประเทศที่มีการโอนย้ายเงินในระบบและหนี้สินตามไปด้วยได้ จึงทำให้ผู้ใช้บริการต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่ให้หมดก่อน”

3 ค่ายประสานเสียง “ไร้ปัญหา”

ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 รายใหญ่ กล่าวตรงกันว่า ปัจจุบันทราฟฟิกในการขอใช้สิทธิย้ายค่ายเบอร์เดิมลดลงมากแล้ว และแต่ละค่ายมือถือก็ไม่ได้ออกโปรโมชั่นแรง ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าคู่แข่ง จึงทำให้อัตราการย้ายค่ายสำเร็จดีขึ้น

“แม้ว่าขณะนี้แต่ละค่ายจะมีโปรโมชั่นให้ลูกค้า MNP ดีกว่าลูกค้าปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าเป็นโปรโมชั่นปกติ ยังไม่ได้ดุเดือดเหมือนช่วงที่สัมปทานสิ้นสุดที่มีการแจกเครื่องให้ลูกค้าย้ายค่ายฟรี หรือดัมพ์ราคาแพ็กเกจพิเศษมาก ๆ”