“บิ๊กตู่” เปิดงาน “Digital Thailand Big Bang 2019” ชูแนวคิด “ASEAN Connectivity”

“ลุงตู่” กล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดงาน “Digital Thailand Big Bang 2019” ชูแนวคิด “ASEAN Connectivity” สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดงาน “Digital Thailand Big Bang 2019: ASEAN Connectivity” มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ โดยจัดที่ไบเทคบางนาตั้งแต่วันที่ 28-31 ตุลาคม บนพื้นที่กว่า 44,000 ตารางเมตร

ภายในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “บทบาทของประเทศไทยในเวที ASEAN Connectivity” ว่า โลกกำลังเดินหน้าไปสู่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ดังนั้นคง Connect แค่ไทยไม่พอ ต้องเชื่อมโยงไปยังรอบบ้าน เป็น ASEAN Connectivity และสำหรับงาน Digital Thailand Big bang เป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ และสร้างความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่ผ่านมาได้เห็นสตาร์ทอัพที่เกิดมากขึ้น ได้เห็นหลาย ๆ ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ใช้เทคโนโลยีพลิกโฉม ภาครัฐเองก็มีการนำเทคโนโลยีมาให้บริการ เพื่อให้รัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัลมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลา งบประมาณ ต้องปรับแก้กฎหมาย เพื่อเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิด Connectivity ที่ไร้รอยต่อ แม้ไม่ง่ายแต่ถ้าร่วมมือกันเชื่อว่าสามารถทำได้อย่างแน่นอน

 

สำหรับปีที่ 4 ของไทยแลนด์ 4.0 ขอให้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประโยชน์ร่วมกับบิ๊กเดต้าของภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ช่วยลบการทำงานซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดงบประมาณ ปัจจุบันภาครัฐกำลังเดินหน้าในทุกมิติไปตามขั้นตอนเรื่อย ๆ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนทำไม่ได้ รวมทั้งการก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เราจำเป็นต้องมีโร๊ดแมพในการทำ เพราะไม่ใช่แค่คิดแล้วทำได้เลย เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มีกฎหมายหลายข้อ อะไรที่ร่วมมือกันได้ก็จะทำได้เร็ว และจะต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน

ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน และมี 6 ด้านที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา 1.ด้านความมั่นคง การใช้สื่อออนไลน์มีมากมหาศาลทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นภัยคุกคามไซเบอร์ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ภาครัฐเองได้ออกพรบ. ใหม่ 2 ฉบับที่บังคับใช้แล้ว ได้แก่ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและพรบ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีการจัดตั้งคณะกรรมการรักษาปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ นอกจากนี้ประชาชนทุกคนต้องมีภูมิต้านทาน มีภูมิคุ้มกันตัวเองเพื่อให้ไม่ถูกหลอกซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศมี

2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รัฐก็ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยความสามารถในการแข่งขันดิจิทัลไทยดีขึ้นต่อเนื่อง จากดัชนี World Digital เวิร์ลดิจิทัล Competitiveness จาก 41 ในปีก่อนมาเป็น 39 ในปีนี้ และได้รับการจัดอันดับจาก Global Competitiveness index เป็นที่ 38 จาก 141 ประเทศ จากเดิมอยู่อันดับที่ 40 ซึ่งการปรับตัวที่เห็นได้ชัดคือ จากภาคการเงิน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะก็เป็นเรื่องสำคัญของไทย เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการพัฒนาเมืองเดิมให้หน้าอยู่ด้วยเทคโนโลยี ส่วนเมืองเกิดใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการก่อสร้างพื้นที่เมืองใหม่ โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ให้ทันสมัยระดับโลก เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้าการลงทุน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการลงทุน มีมาตรการจาก BOI เพื่อให้มีแรงจูงใจในการลงทุน

3.การเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแค่จัดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เข้าถึงทั่วประเทศ แต่ต้องกสร้างการรับรู้ในการใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ สร้างคนไทย 4.0 เป็นคนไทยที่มีทักษะดิจิทัล ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ส่งเสริมการใช้คอมพิวเตอร์ให้คนรุ่นใหม่และมีภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ ให้ใช้โลกออนไลน์อย่างมีสติ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษานำหลักสูตรบรรจุในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือเยาวชนในการรู้เท่าทันดิจิทัล

4.ด้านการสร้างโอกาสและความเสมิภาคทางสังคม โดยได้ดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ตอนนี้ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่เป้าหมาย มีการปรับปรุงอินเตอร์เน็ตแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในโรงเรียนและขยายโครงข่ายให้โรงพยาบาล หาเทคโนโลยีที่ใช้งานง่ายกับเกษตรกรและ SME ในไทยกว่า 5 ล้านราย

5.การบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยใช้บิ๊กเดต้า ทั้งจากดาวเทียม เพื่อหาพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และ 6.การปรับสมดุลการบริการภาครัฐ เป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับการเข้าถึง เร่งจัดทำบิ๊กเดต้า พัฒนาระบบคลาวด์กลาง GDCC เพื่อให้บริการประชาชน ลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน

“ทุกประเทศในอาเซียนเห็นพ้องที่จะใช้ดิจิทัลในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 โดยไทยเองในฐานะประธานอาเซียนก็จะหารือกันทุกมิติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายทั้งอาเซียนและนอกอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีต่าง ๆ สร้างประโยชน์ให้ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้มั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนต่อไป”