เมื่อ สตาร์ตอัพ ไม่ใช่ “ฮีโร่”

https://pixabay.com/

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ ปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

มองผ่าน ๆ โลกสตาร์ตอัพช่างสวยงาม แค่ไอเดียกับความมุ่งมั่น เงินทองจะไหลมาดุจสายน้ำ แต่ความจริงคือโลกที่โหดร้าย

วงการนี้เงินมาเร็วจริง แต่ไปเร็วพอ ๆ กัน คำคมสร้างแรงบันดาลใจประเภท “ล้มได้แต่ต้องลุกให้เป็น” หรือ “เรียนรู้จากความผิดพลาดและก้าวต่อไปเพื่อชัยชนะ” อาจดูสวยงามแต่ก็เหมือนแส้ฟาดกระหน่ำให้สตาร์ตอัพต้องฝืนทนเดินต่อทั้งที่ใจอ่อนล้า

การศึกษาของ University of California พบว่า สตาร์ตอัพเสี่ยงจะป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนในอาชีพอื่นถึง 50% มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า-คิดฆ่าตัวตายมากกว่าอาชีพอื่น 2 เท่า โอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นมากว่า 6 เท่า โอกาสเป็นไบโพลาร์ 10 เท่า และไม่ใช่แค่ในซิลิคอนวัลเลย์ แต่ลามไปทั่วโลกรวมทั้งในญี่ปุ่น

มาริ ซากุระโมโตะ เจ้าของบริษัทให้คำปรึกษาสุขภาพจิตในโตเกียวจึงออกบริการชื่อว่า “Escort” เป็นช่องทาง

สำหรับสตาร์ตอัพที่ต้องการคนรับฟังและให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ ซากุระโมโตะบอกว่า สื่อญี่ปุ่นมักชื่นชมเจ้าของสตาร์ตอัพที่หาเงินลงทุนได้เยอะ ๆ ว่าเป็น “ฮีโร่” ที่จะมาพลิกโฉมโลกใบนี้ให้ดีกว่าเดิม

ตำนาน “ฮีโร่” ถูกถ่ายทอดผ่านพลอตเดิม ๆ ที่เริ่มต้นที่ตัวเอกสามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันบรรเจิดขึ้นมา จากนั้นก็บากบั่นชนะใจนักลงทุน ทำให้ “ฝัน” เป็นจริง สุดท้ายจบแบบแฮปปี้เอนดิ้งด้วยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นมหาเศรษฐีหมื่นล้านหรือไม่ก็ขายกิจการให้บริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อแลกกับเงินก้อนโต

แต่ซากุระโมโตะมองว่า เจ้าของสตาร์ตอัพไม่ใช่ “ซูเปอร์ฮีโร่” หากแต่เป็น “คนธรรมดา” ที่ต้องอยู่ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังมากกว่าคนอื่น ไหนจะต้องพิสูจน์ตัวเองในฐานะนักธุรกิจ ต้องเป็น “ผู้นำ” ที่ดีในสายตาลูกน้อง และกระเสือกกระสนทำกำไรเพื่อหาเงินมาคืนนักลงทุน

ภาพลักษณ์ “ผู้นำ” มักมาพร้อม “ความเข้มแข็ง” ทำให้เจ้าของสตาร์ตอัพจำนวนมากไม่กล้าปรึกษาใคร หรือแสดงความ “อ่อนแอ” จึงกลายเป็นความเครียดสะสมที่บั่นทอนสุขภาพจิต ดังสะท้อนในงานวิจัยของ Zerobase Inc. ในปี 2017 ที่พบว่า สตาร์ตอัพส่อแววจะอารมณ์แปรปรวน และเป็นโรควิตกกังวล กว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า

บริการ Escort ต่างจากบริการให้คำปรึกษาอื่นตรงที่เน้นการป้องกันและการสร้างความเข้าใจตั้งแต่ต้น โดยแนะให้สตาร์ตอัพมาทำแบบทดสอบวิเคราะห์ตนเองก่อนเริ่มกิจการ เพื่อวัดระดับความเสี่ยงและวิเคราะห์ว่าตัวเองมีโอกาสเกิดปัญหาทางอารมณ์ด้านใดเพื่อหาทางเลี่ยงหรือป้องกันแต่เนิ่น ๆ

นอกจาก Escort จะให้คำปรึกษาและ coaching ตามระดับความเสี่ยงแล้ว ยังมีการ follow up ผ่านการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวและช่องทาง “แชต” ที่ทำให้ลูกค้าสบายใจว่าจะมีคนคอย “รับฟัง” ปัญหาและให้คำปรึกษาตลอดเวลา

ซากุระโมโตะยอมรับว่า สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าการมีคนคอยรับฟังและให้คำปรึกษา คือ การมีเพื่อนหรือชุมชนที่สตาร์ตอัพสามารถเปิดอกบอกเล่าปัญหาให้กันฟังได้ เพราะคนในวงการเดียวกันย่อมเข้าใจปัญหาและอุปสรรคได้ดีกว่าคนนอก

เช่น Impact Hub Tokyo ของ ชิโนะ ซูชิยะ ที่เป็นโครงการ coworking space ที่ไม่เหมือน coworking space อื่นตรงที่สมาชิกสามารถพูดคุยกันเรื่องปรัชญาการทำงาน ความร่วมมือทางธุรกิจในอนาคต และปัญหาส่วนตัวได้ด้วย แทนที่จะมัวแต่เกทับว่าใครระดมเงินได้มากกว่ากัน หรืออวดแผนขยายกิจการว่าใครจะใหญ่กว่ากัน

แต่บริการ Escort และ Impact Hub Tokyo เป็นเพียงเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหาได้เล็กน้อย หากอยากหาทางออกอย่างเป็นระบบ สังคมต้องหยุดมองเจ้าของสตาร์ตอัพว่าเป็น “คนเหล็ก” ที่สามารถพิชิตทุกปัญหาด้วยตัวเองตามลำพัง และต้องเปิดใจยอมรับว่า “หนทางสู่ความสำเร็จ” มีมากกว่าการได้เป็น “ยูนิคอร์น” ตัวต่อไป

ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวประปรายโดยเฉพาะในอเมริกาที่เรียกร้องให้นักลงทุน “เห็นใจ” สตาร์ตอัพมากขึ้น แต่ก็หนีไม่พ้นตรรกะทางธุรกิจว่าด้วย “กำไร” โดยมองว่า “กำไร” ของนักลงทุนมาจากหยาดเหงื่อเลือดเนื้อของสตาร์ตอัพ ถ้าเกิดพวกนี้ล้มตายไปหรือมีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา “กำไร” ของนักลงทุนก็จะหดหาย ฉะนั้น ความ “เห็นใจ” ของนักลงทุน (หากมีจริง) จึงยังอยู่บนพื้นฐานที่สตาร์ตอัพยังคงถูกคาดหวังให้เป็นเครื่องจักรสร้าง “กำไร” ให้พวกเขาต่อไป

เมื่อประเดิมกลัดกระดุมเม็ดแบบนี้แล้ว จึงน่าหวั่นใจว่าผลลัพธ์ก็ยังคงเป็น “คนอ่อนแอก็แพ้ไป” เช่นเดิม