Ride-Hailing ภารกิจสร้าง “สมดุล” แอปเรียกรถ-แท็กซี่ดั้งเดิม

Ride-Hailing : บริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง เป็นอีกประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายในสังคมจับตา เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ “บทบาทของอุตสาหกรรมเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน (Ride-Hailing) ในประเทศไทยและแนวทางในการกำกับดูแลของภาครัฐในมุมมองของนักวิชาการและผู้ประกอบการ”

“รศ. ดร. ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์” รองผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลบริการ Ride-Hailing   สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการ ซึ่งรวมถึงในด้านความปลอดภัยด้วย

แนะรัฐใช้ประโยชน์จาก Data Sharing 

ขณะที่การแบ่งปันข้อมูล หรือ Data Sharing ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างผู้ให้บริการ Ride-Hailing ถือเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาและสร้างประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับผู้บริโภค

โดย Data Sharing อาจเป็นได้หลายรูปแบบ ทั้งการนำข้อมูลมาใช้เพื่อวางแผนพัฒนาระบบโครงสร้างการคมนาคมขนส่งและปรับปรุงการวางผังเมือง เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองสามารถนำผลวิเคราะห์การจราจรที่ได้จากข้อมูล GPS ของผู้ให้บริการ Ride-Hailing มาใช้พัฒนาระบบการจัดการคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  แม้แต่การแชร์ข้อมูลด้านความปลอดภัยของผู้ให้บริการก็ช่วยให้ภาครัฐสามารถวางแผนเพื่อกำหนดมาตรการในการลดอุบัติเหตุต่างๆ ได้

กำกับเท่าเทียมเกิดได้ด้วยการมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์และกฏหมายเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ผมมองว่า Ride-Hailing จะยังคงมีให้บริการต่อไปและจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมคมนาคมขนส่งของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนไทยได้เริ่มพึ่งพาและใช้บริการ Ride-Hailing มากขึ้น โดยถือเป็นหนึ่งในทางเลือกของการเดินทางในชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีความปลอดภัยและช่วยเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ส่วนแท็กซี่ในระบบดั้งเดิมและผู้ให้บริการ Ride-Hailing นั้น มองว่าการแข่งขันทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด ส่วนประเด็นความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นน่าจะคลี่คลายในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าผู้ให้บริการทั้งสองระบบจะสามารถอยู่ร่วมกันได้เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแนวทางและกฏหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อรับฟังมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ใช้กลไกการกำหนดราคาจูงใจ

ด้าน “เจสัน แจ็คสัน” รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองและการวางผังเมือง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มุมมองว่า หน่วยงานภาครัฐถือเป็นตัวกลางสำคัญในการประสานความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย พร้อมกำหนดขอบเขตและแนวทางในการกำกับดูแลที่ช่วยรักษาผลประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม

หนึ่งในกรณีศึกษาที่ดีคือรัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล ที่หน่วยงานภาครัฐได้กำกับดูแลการประกอบการ Ride-hailing Application ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น การกำกับดูแลให้คนขับรถบนระบบ Ride-hailing สามารถให้บริการการเดินทางและขับขี่ในเมืองที่เท่าเทียมและยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้กลไกการกำหนดราคาถูกใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกำหนดบทบัญญัติของการขับขี่ ทั้งในพื้นที่เขตเมืองที่ยังขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงกระตุ้นให้มีการให้บริการนอกเวลาเร่งด่วนเพื่อลดความแออัดของการจราจร

ผมไม่คิดว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งแท็กซี่ในระบบดั้งเดิมและผู้ให้บริการ Ride-Hailing ต่างมีเป้าหมายในการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการเดินทางกับผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น ผมเชื่อว่า ท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาแนวทางในการอยู่ร่วมกันได้และเกิดประโยชน์สูงสุด”

Grab เชื่อถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ

ฟากRide-Hailing อย่าง Grab “ธรินทร์ ธนียวัน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า การริเริ่มกำหนดแนวทางในการกำกับดูแลบริการ Ride-Hailing ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประเทศในการบรรลุเป้าหมายของนโยบาย Thailand 4.0  สะท้อนถึงความก้าวหน้าในการใช้ประโยชน์จากโมเดลธุรกิจในยุคดิจิทัลอย่าง Ride-Hailing เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบการคมนาคมขนส่งพื้นฐานของประเทศ

“เรามีตัวอย่างของกำกับดูแลบริการ Ride-Hailing ในหลายประเทศทั่วโลกให้ได้ศึกษา แต่สิ่งที่สำคัญคือการนำตัวอย่างความสำเร็จเหล่านั้นมาใช้เป็นแนวทางอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ คนขับรถ Ride-Hailing รวมไปถึงประโยชน์ด้านอื่นๆ ของประเทศด้วย”

ข้อมูลล่าสุดใน e-Conomy Southeast Asia Report ปี 2561 ที่ศึกษาโดย Google-Temasek ระบุว่า ธุรกิจ Ride-Hailing ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568

One Size Fits All เป็นเรื่องยาก

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยขั้นสูงเพื่อเป็นแนวทางให้กับบริษัทที่ให้บริการ ทั้งด้านเทคโนโลยี  ความพร้อมของทีมงานและองค์กร ส่วนความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแล Ride-Hailing นั้น ผมคิดว่าเราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค นำไปสู่การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มบทบาทของโลกธุรกิจปัจจุบัน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรกำหนดหลักเกณฑ์ในด้านความปลอดภัยที่รัดกุมเข้มงวด แต่ก็ยืดหยุ่นเพียงพอ เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้

คงเป็นเรื่องยากที่จะมีโซลูชันแบบ One Size Fits All เพื่อนำมาใช้กำกับดูแลทั้งแท็กซี่ในระบบดั้งเดิมและผู้ให้บริการ Ride-Hailing เพราะจะเป็นการสกัดกั้นนวัตกรรมและจำกัดผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในระยะยาว และการกำหนดกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่ประเทศที่สามารถสร้างสมดุลของทั้งสองด้านได้ ย่อมสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง