4 ปี ซีอีโอ “ทีโอที” ยังต้องหาที่ยืนในธุรกิจดิจิทัล

สัมภาษณ์พิเศษ 

15 พ.ย.นี้ก็จะครบสัญญาจ้าง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กับลูกหม้อนักเรียนทุนดีกรีปริญญาเอกจากฝรั่งเศส “มนต์ชัย หนูสง” ซึ่งแม้ว่าองค์กรจะกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการ “ควบรวม” กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ แต่รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯ ต้นสังกัดก็ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า “ถึงเวลาเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่” “ประชาชาติธุรกิจ” อัพเดตสถานการณ์ทีโอทีล่าสุดในโค้งท้ายของการทำหน้าที่

Q : ไม่ต่อสัญญา

ก็คงแล้วแต่รัฐมนตรี แต่ถ้าถามว่าอยากจะต่อสัญญาไหม ก็สองจิตสองใจนะ เพราะยังมีเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จค้างอยู่ คือ การผลักดันให้ทีโอทีเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลได้มากกว่านี้ ตอนนี้เหมือนไปจ่ออยู่ มีหลายโครงการที่อยากให้เดินหน้ามากกว่านี้ แต่อีกใจก็เหนื่อย

Q : ไปดิจิทัลกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

น้อยมาก ถ้าเทียบกับรายได้ทั้งหมด ธุรกิจดิจิทัลทำรายได้แค่ราวพันกว่าล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ว่า 5-6 ปีข้างหน้าจะมีรายได้จากดิจิทัลอย่างน้อย 1 ใน 3 ปัจจุบันรายได้ที่ทำได้เองอยู่ที่ 2.5-2.6 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นจริง ๆ ควรอยู่ที่ 5 พันล้าน ต้องผลักดันอีกเยอะมาก

ขณะที่คนในองค์กรยังไปในแนวดิจิทัลยังมีน้อย ทักษะส่วนใหญ่ยังเป็นแบบธุรกิจเดิม ๆ ซึ่งเรื่องคนต้องใช้เวลาเป็นปี จึงต้องหาโมเดลทำธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อทำธุรกิจดิจิทัลนี้ ซึ่งจริง ๆ ก็ได้บริษัทที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 แล้ว แต่เขาก็กังวลว่า ถ้าเราเปลี่ยนซีอีโอแล้ว โครงการจะไปต่อได้ไหม

Q : รมต.รอแผนธุรกิจก่อนเข้า ครม.

เสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาแผนที่สรุปร่วมกันระหว่างแคทกับทีโอที 30 ต.ค. ซึ่งเดิมคณะทำงานตกลงร่วมกันว่า เมื่อ ครม.อนุมัติให้ควบรวมแล้ว แคทกับทีโอทีจะลงขันกันจ้างที่ปรึกษาภายนอกขึ้นมาทำแผนธุรกิจ เพื่อให้วิเคราะห์จากมุมมองของภายนอก ไม่ใช่ทำกันเอง

Q : ควบรวมแล้วจะไปรอด

แนวคิด รมต.ที่ให้มุ่งทำ 5G เป็นเรื่องที่โอเค เพราะผมบอกมาตลอดว่า การควบรวม 2 องค์กร เป็นการรวมปัญหาของทั้งคู่ไว้ด้วยกัน กลายเป็นปัญหาคูณสอง แต่โอกาสเท่าเดิมเพราะโอกาสของทีโอทีและแคทเป็นโอกาสเดียวกัน ยิ่งเอาคน 13,000 กับ 5,000 คน มารวมไว้ด้วยกัน ยิ่งยาก แต่ถ้าค่อย ๆ ร้อยมารวมกันทีละเรื่อง เช่น เฉพาะส่วนที่ทำ 5G ก่อน ก็เป็นทิศทางที่ดี

Q : เน็ตชายขอบ กสทช. ถูกเลิกสัญญา

ปัญหาเกิดจากยึดกอดตำรากันคนละข้าง เพราะกรณีนี้ผู้ผลิตไฟเบอร์ในประเทศเสนอราคาสูงกว่าต่างประเทศถึง 40% พอเป็นเรื่องสายไฟเบอร์ก็เลยกระทบการตรวจรับทั้งโครงการ ซึ่ง กสทช.ก็ไม่ได้ใจร้าย เชื่อว่าอันไหน กสทช.ตรวจรับได้ก็จะรับ ที่เหลือก็จะไปจ้างคนอื่นมาทำต่อ

ส่วนที่บอกว่า ทำแบบนี้ทีโอทีกำไรมากกว่าส่งครบ 100% ก็ยังไม่แน่ใจ ต้องไปดูตัวเลขอีกที พยายามทำให้เร็วที่สุด

Q : เคลียร์เป็นงานสุดท้าย

ยังมีอีกหลายเรื่อง อย่างผลักดันให้ไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการทำงานภายในของทีโอที อาทิ การนำซอฟต์แวร์โรบอตเข้ามาทำงานซ้ำ ๆ แล้วเอาคนไปดูแลลูกค้าแทน กับส่วนของแพลตฟอร์มที่เป็นเฉพาะทาง อาทิ แพลตฟอร์มสาธารณสุข ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งผลกระทบกับคนได้เยอะ เป็นบุญกุศลเพราะไม่มีใครไม่ป่วย และก็เป็นเซ็กเตอร์ใหญ่ มีฐานเดิมที่ทีโอทีทำอยู่แล้วและได้รับการยอมรับ ที่เป็นบริการ “TOT help call” ลงทะเบียนผู้ป่วยกับระบบโทร.สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉิน เฟสต่อไปคือ ใช้แวเรียเบิลสำหรับผู้สูงอายุสำหรับเก็บข้อมูลสุขภาพและแจ้งเหตุ

Q : 4 ปีในตำแหน่งพอใจแค่ไหน

ก็พอใจ แต่ยังไม่พอ เพราะมีหลายอย่างที่พยายามจะเปลี่ยนก็ยังทำไม่ได้ ในโลกธุรกิจที่ซับซ้อน แต่ไม่พูดดีกว่า ไม่ดีกับองค์กร เอาเป็นว่า ทีโอทีเริ่มช้าไปนิดหนึ่ง ตลาดเริ่มเดินไปแล้วในขณะนี้ที่เพิ่งเริ่ม อีกเรื่องคือ โครงสร้างต้นทุนที่ยังไม่ได้ ยังมีค่าใช้จ่ายด้านคนเยอะอยู่ เป็นเรื่องปกติของทุกรัฐวิสาหกิจ

Q : งานที่พอใจมากที่สุด

ถึงจะไม่ใช่เรื่องที่เราทำเอง 100% แต่การทำให้ทีโอทีมีโอกาสหารายได้จากคลื่นที่มี มีโอกาสได้ทำงานใหม่ ๆ จากเดิมที่ทีโอทีไม่มีโอกาส ตอนนี้เหมือนตะเกียกตะกายคลานขึ้นมาได้ จากแทนที่จะนอนอยู่ในหลุม ก็มีบาดแผลบ้าง แต่ก็มีโอกาสเดินต่อ แม้ไม่แข็งแรง 100% ก็รู้สึกดีตรงนั้นแต่ไม่ใช่ผมทำคนเดียว ยังมีทีมงานด้วย