ความพร้อมรับอนาคต ฉุดศักยภาพแข่งขันดิจิทัลไทย “ร่วง”

เป็นอีกไฮไลต์ของงาน “Digital wThailand Big Bang 2019” สำหรับการบรรยายพิเศษ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่ชี้ชัดถึงปัญหาที่ทำให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล “digital competitiveness” ของประเทศไทยร่วง

โดยประธานสภาดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า IMD Digital Competitiveness Ranking 2019 จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 40 ตกลงไป 1 อันดับ ขณะที่ประเทศอื่นเคลื่อนเร็วมาก อาทิ สิงคโปร์อยู่ที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา มาเลเซียขยับจาก 27 เป็น 26 หรือฟิลิปปินส์เองก็ขยัับจาก 56 เป็น 55

“อินโดนีเซียก็มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นเติบโตเร็วมาก ซึ่งปัจจัยมาจากรัฐตัดสินใจเฉียบขาดและรวดเร็ว ถ้าไทยยังไม่ปรับตัวเองให้เร็วพอ เพื่อนบ้านในอาเซียนมีโอกาสแซง”

โดยไทยทำได้ดีในส่วนของ ความรู้ด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ทั้งแง่ของกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี แต่จำนวนการผลิตบุคลากรทางดิจิทัล เม็ดเงินการลงทุนในการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม คะแนนยังไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซีย

ขณะที่ “future readiness” หรือความพร้อมรับอนาคต เป็นตัวฉุดมากที่สุด เพราะยังไม่มีทัศนคติที่เปิดกว้างในการขับเคลื่อนอย่างคล่องตัว มีจินตนาการ ยังไม่มีความยืดหยุ่นในการบริหารองค์กร อีกทั้งยังไม่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลเรียลไทม์ รวมถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

ถึงเวลาขยับสร้างความเชื่อมั่น

ในอาเซียน สิงคโปร์ได้รับเงินลงทุนจากทั่วโลกมากที่สุดถึง 60,000 ล้านเหรียญตามด้วยอินโดนีเซีย 2.2 หมื่นล้านเหรียญ เวียดนาม 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ส่วนไทย 1.2 หมื่นล้านเหรียญ นั่นแปลว่าไทยยังไม่ดึงดูดนักลงทุนเพียงพอ

“สตาร์ตอัพไปตั้งหลักที่สิงคโปร์หรือฮ่องกงที่มีสิทธิทางภาษีที่ดีกว่า ไทยจึงต้องมีวันสต็อปเซอร์วิสไปเสนอนักลงทุน อาทิ ฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทใหญ่ที่ผลิตไอโฟน มีพนักงานกว่าล้านคนประกาศย้ายฐานการผลิต 30% ไปประเทศเวียดนาม ถ้าไทยสามารถดึงมาได้ เชื่อว่าแค่บริษัทเดียวจะสามารถสร้างงานและดิจิทัลสกิลในไทยได้ถึง 2 แสนอัตรา หรือปรับภาพลักษณ์เรื่องดิจิทัลไพรเวซี่ก็จะสามารถเป็นฮับของดิจิทัลในภูมิภาคได้”

เทรนด์ของโลกในปัจจุบันเป็นโมบายเฟิรสต์ และมีการใช้ดาต้ามหาศาล คาดว่าในอีก 3 ปีจะเติบโตถึง 396 exabyte โดยเอเชีย-แปซิฟิกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ขับเคลื่อน digital consumption ของโลก คาดว่ามีสัดส่วนกว่า 40-45%

“mobile consumption ไทยในช่วง 3 ปีอยู่ที่ 60% เติบโตกว่าอเมริกา จึงเป็นโอกาสของไทย”

ไมนด์เซตต้องชัด

โลกก้าวสู่ยุคของข้อมูลมหาศาล AI ออโตเมชั่น คนต้องเป็นนักนวัตกร สร้างสรรค์ และเป็นยุคของความยั่งยืนใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำมีความปลอดภัย ความโปร่งใส เป็นการนำอำนาจกลับไปสู่สังคมโดยรวม ไม่มีขอบเขตและระดับชั้นที่เกิดขึ้นในระบบสังคม สภาดิจิทัลฯ มี 5 ภารกิจที่สำคัญ ซึ่งล้อไปกับภารกิจของประเทศ คือ

1.สร้างมาตรฐานใหม่ เช่นการ reskill เพิ่มทักษะด้านดิจิทัล

2.การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน

3.digital manpower ทั้งในระบบการศึกษาจนถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

4.develop digital สนับสนุนทุกอุตสาหกรรมทรานส์ฟอร์มเข้าใจ ตื่นรู้ ปรับตัวได้มากขึ้น

5.ผลักดัน region innovation hub

ส่วนการทรานส์ฟอร์มองค์กรในปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า สร้าง digital workplace การใช้ AI และระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง IOT และไซเบอร์ซีเคียวริตี้

“ไทยต้องตั้งเป้า เพื่อเป็นการกระตุ้นว่าจะต้องลงทุนอย่างไร อย่างเรื่องดิจิทัลไอทีของจีนมีถึง 17,000 ไอพี เราจึงต้องรีบมาดูว่าต้องทำอย่างไร ต้องปรับกฎหมายตรงไหน เริ่มต้นรีสกิลคนอย่างไร ต้องสอนให้เด็กตั้งคำถาม ทำงานร่วมกัน และองค์กรอย่ายึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลว เราต้องเริ่มต้นที่ไมนด์เซต แล้วความสำเร็จจะตามมาแน่นอน”