ปูพรม Digital Skill วิชั่น “ไมโครซอฟท์” 2020

แฟ้มภาพ

“ไมโครซอฟท์” คือ หนึ่งในบริษัทไอทีที่อยู่คู่เมืองไทยมานาน ล่าสุด “ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) เปิดเผยในโอกาสรับตำแหน่งครบ 2 ปี โดยระบุว่า “ดิจิทัลสกิล” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในยุคนี้ และเป็นปัญหาที่ทุกองค์กรต้องเผชิญการขาดแคลน

“ในไทยมีคนไอที 340,000 คน การรอเรียนจบคงไม่ทัน ดังนั้น วิชั่นของไมโครซอฟท์ในปี 2020 คือ ทำอย่างไรให้คนที่เหลือมีดิจิทัลสกิล”

เปิด 3 แพลตฟอร์มช่วย

ไมโครซอฟท์จึงจะเปิด 3 แพลตฟอร์ม 1.Power BI จะสามารถดึงข้อมูลได้ทุกแหล่งมาโชว์เป็นพรีเซนเตชั่น เพื่อประกอบการตัดสินใจ 2.Power Apps เป็นเครื่องมือในการทำแอปพลิเคชั่น โดยไม่ต้องเขียนโค้ดดิ้ง 3.Microsoft Flow ระบบอัตโนมัติที่ทำงานซ้ำซากแทน โดยเชื่อมโยงข้อมูลและเอกสารข้ามแอปและบริการต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด

“จากนี้คนไอทีที่ต้องรับผิดชอบในส่วนคีย์แอปพลิเคชั่นต้องผันมาเป็นดาต้าเอ็นจิเนียริ่ง เพื่อเตรียมเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อให้บิสซิเนสยูสเซอร์นำไปใช้ รวมทั้งทำงานร่วมกับดาต้าไซเอนทิสต์”

สำหรับทั้ง 3 แอปพลิเคชั่นใช้ได้กับการทำงานทุกสเกล ราคาคิดตามจำนวนยูสเซอร์/เดือน โดยลูกค้าที่ใช้ไมโครซอฟท์ออฟฟิศอยู่แล้วใช้ได้ หรือซื้อแอปพลิเคชั่นได้เลย

“ต้องเทิร์นให้บิสซิเนสยูสเซอร์มีความสามารถทางเทคโนโลยี องค์กรควรโฟกัสที่การนำเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาให้พนักงานใช้เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ไม่ต้องรอยูสเคสจากต่างประเทศ ตอนนี้เราต้องการแค่ไอเดีย แพลตฟอร์มมีอยู่แล้ว อินฟราสตรักเจอร์พร้อม”

องค์กรไทยยังตื่นตัว

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกอุตสาหกรรมมีความกระตือรือร้นในด้านไอที การใช้งานเอไอในทุกอุตสาหกรรม ทั้งอสังหาฯ การผลิต พลังงาน ทั้งผู้ประกอบการเล็กและใหญ่เข้าคลาสเรียนรู้เทคโนโลยี

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนยังมีต่อเนื่อง ไม่มีการชะลอ เพราะองค์กรต้องการใช้สิ่งที่แอดวานซ์มากขึ้น อย่างไมโครซอฟท์อะชัวร์มีการเติบโต 2 เท่าครึ่งในปีที่ผ่านมา จนมีสัดส่วนรายได้เป็นครึ่งหนึ่ง

โดยคาดว่าจะเติบโตเรื่อย ๆ ปีนี้ก็ตั้งเป้าการเติบโตเท่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าใน 2 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จากอะชัวร์จะเป็น 70-80%

อย่างไรก็ตาม คอนซูเมอร์ของไมโครซอฟท์ก็ยังแอ็กทีฟ ไม่ได้ทิ้ง โดยจะมีเปิดตัว Surface Pro X เดือนธันวาคม และมีสินค้าใหม่ ๆ ตามมาอีก

AI ไม่ใช่แค่พูด

“การใช้งานเอไอขององค์กรในปีนี้และปีหน้าจะเป็นการนำไปใช้ในคอร์บิสซิเนสมากขึ้น ไม่เหมือนกับปีที่ผ่านมาที่เป็น “แฟนซีเวิร์ด” หรือใช้แค่บางโปรเจ็กต์ เนื่องจากการใช้งานเอไอเกิดจากโจทย์ของบิสซิเนสยูสเซอร์ หรือประสบการณ์การทำงาน ไม่ใช่นำเอไอไปใช้กับระบบไอที”

บางองค์กรใช้เอไอเขียนอัลกอริทึ่มในการคำนวณหากลยุทธ์และกำหนดทิศทางของบริษัท หรือที่เรียกว่า “artificial general intelligent” (AGI) ซึ่งปัจจุบันความสามารถเอไอก้าวล้ำมนุษย์แล้วทั้งการอ่าน การฟัง การดู ที่สามารถทำได้เทียบเท่าหรือเหนือกว่า แต่ถ้าจะเริ่มใช้งานเอไอต้องหาปัญหาให้เจอ ใช้ไอเดียใหม่ ๆ ในการใช้งานเอไอ เพื่อสร้างความแตกต่างให้องค์กร

AI for all ใช้ได้จริง

“AI for all” เป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์พูดมานาน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาเราพยายามจะนำเอไอให้เข้าถึงทุกคน ตั้งแต่สตาร์ตอัพถึงเอ็นเตอร์ไพรส์ หรือแม้กระทั่งนักเรียน ซึ่งปัจจุบันองค์กรไม่ต้องสร้างคลาวด์เอง สามารถสร้างเอไอหรือใช้แพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างแชตบอตบนคลาวด์ได้เลย อย่างอะชัวร์ก็มีเครื่องมือให้หยิบใช้ได้เลย ไม่ต้องลงทุนมากเหมือนอดีต ต่อไป 90% ของคัสตอมเมอร์อินเตอร์แอ็กชั่นในปี 2025 จะเป็นแชตบอต

“กลุ่มโทรคมนาคมใช้เอไอในการช่วยทำโปรดักต์เรคอมเมนเตชั่นให้ลูกค้าโดยดูจากการใช้งาน สามารถรู้ได้ว่าลูกค้าจะเลิกการใช้งานหรือไม่ หรืออุตสาหกรรมการผลิตมีการใช้เอไอในการจัดการพลังงาน หรือแกร็บที่มีข้อมูลมหาศาลก็ใช้เอไอในการทำครอสเซลได้ หรือสตาร์บัคส์ที่ใช้บล็อกเชนในการเก็บข้อมูลวัตถุดิบ และมีบริษัทลิฟต์ไทยนำไอโอทีไปติดที่ลิฟต์ เพื่อดูได้ว่าอุปกรณ์ไหนจะเสียเพื่อที่จะรู้ก่อนซ่อมก่อน และคิดเงินตามที่ใช้ ไม่ใช่การเช่าขาดแบบที่ผ่านมา”

จริยธรรม AI

แต่เมื่อมีการใช้งานเอไอที่มากขึ้น จำเป็นต้องมีกฎหมายที่ควบคุม เพราะเอไอเรียนรู้จาก “ข้อมูล” ซึ่งบางข้อมูลอาจจะมี “อคติ” แฝงอยู่ฉะนั้น เอไอต้องมี

1.fairness (ยุติธรรม)

2.inclusiveness (ไว้ใจได้)

3.reliability & safety (ปลอดภัย)

4.transparency (เสมอภาค)

5.privacy & security (โปร่งใส)

6.accountability (รับผิดชอบ)

โดยไมโครซอฟท์ร่วมกระทรวงดีอีเอสและมหาวิทยาลัยมหิดลในการทำโครงการ AI Ethics ในการสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการนำเอไอไปใช้ให้ถูกวิธี ปัจจุบันมีประเทศสิงคโปร์และเกาหลีเท่านั้นที่เริ่มเข้ามาทำ ไทยเป็นประเทศที่ 3 และในไมโครซอฟท์เองก็มีการนำหลักการทั้ง 6 มาตรวจสอบการพัฒนาเอไอในแต่ละโครงการด้วย

ขณะที่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยไมโครซอฟท์ได้ลงทุนปีละ 1 พันล้านเหรียญ เฉพาะในด้านซีเคียวริตี้