ถอดบทเรียน Vision Fund เมื่อเงินหนา ไม่ได้แปลว่า “ชนะ”

PHOTO/YOSHIKAZU TSUNO (Photo by AFP)

คอลัมน์ Startup ปัญหาทำเงิน
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

Uber กับ WeWork คล้ายกันหลายอย่าง ช่วงขาขึ้นทั้งคู่เป็นสตาร์ตอัพเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมตนเอง มีผู้ก่อตั้งสไตล์ “แบดบอย” แต่วันนี้ทั้งคู่กลายเป็นบริษัทที่มีปัญหารุมเร้า “ค่าตัว” ลดฮวบ

จุดร่วมอีกอย่างคือทั้งคู่มีท่อน้ำเลี้ยงสายเดียวกัน คือ Vision Fund

“Vision Fund” เป็นกองทุนอภิมหึมาแสนล้านเหรียญ ก่อตั้งภายใต้การนำของ “มาซาโยชิ ซัน” ผู้ระดมเงินจากนักลงทุนตัวเบ้ง จาก SoftBank 2 หมื่นล้านเหรียญ กับรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพที่ดูมี “ศักยภาพโดดเด่น”

หลังเปิดตัวปี 2017 ก็กวาด 80 สตาร์ตอัพมาไว้ใต้ปีก 2 ปี ทุ่มไปถึง 11% ของเงินลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลก

แต่จาก 6 สตาร์ตอัพที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีเพียง Guardant Health และ 10x Genomics ที่ราคาหุ้นสูงกว่าราคาพาร์

ถึง Vision Fund จะบอกว่าไตรมาสที่ผ่านมา มี return จากการลงทุนสูงขึ้น 29% จากการลงทุนในสตาร์ตอัพอินเดีย OYO ที่ SoftBank เคลมว่ามูลค่าสูงขึ้นจาก 5 พันล้าน เป็นหมื่นล้านเหรียญ แต่นักวิเคราะห์มองว่า Vision Fund จะพูดอะไรก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้ “มูลค่า” ที่แท้จริงจนกว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ความกังวลนี้ทำให้หุ้น SoftBank ลดลง 18% ตั้งแต่ ก.ค.ที่ผ่านมาและตั้งคำถามต่อกลยุทธ์

“กล้าได้กล้าเสีย” ว่าเป็นการตัดสินใจที่“ชาญฉลาด” หรือ “บ้าคลั่ง” กันแน่ แต่จะเข้าใจ Vision Fund ได้ต้องเข้าใจผู้กุมบังเหียน “มาซาโยชิ ซัน” ซึ่งมีประวัติน่าตื่นตาตื่นใจ ที่กลับมาผงาดอีกครั้งหลังสูญเงินกว่า 7 หมื่นล้าน เหรียญจากฟองสบู่ dot.com แตกในปี 2000 ด้วยการลงทุนใน Alibaba

เล่ากันว่าเขาพบ “แจ็ก หม่า” แค่ 6 นาทีก็ตัดสินใจลงทุนด้วยเงิน 20 ล้านเหรียญแลกกับหุ้น 26%

วันนี้ Alibaba มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญ กลายเป็น “ลมใต้ปีก” ของ “ซัน” มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อพูดถึง “ซัน” ต้องคิดถึงความ “เฉียบคม” และความ “ฉับไว” ซึ่งฉีกกฎการลงทุนแบบ venture capital (VC) ที่ต้องวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกกว่าจะควักเงิน แต่ “ซัน” ตัดสินใจจาก “สัญชาตญาณ”

แถมเงินลงทุนไซซ์กลางยังฟาดไปเฉลี่ยรอบละ 350 ล้านเหรียญ ต่างกับ VC ทั่วไปที่อยู่ราว 35 ล้านเหรียญ เพราะ “ซัน” เชื่อว่าการอัดฉีดเงิน คือการติดอาวุธปูทางไปสู่การเป็น “ผู้ชนะ” อย่างรวดเร็ว ปัญหาคือ อุตสาหกรรมที่ลงทุนล้วนมีคู่แข่งรายเดิมที่แข็งแกร่งทำให้อัดเงินลงไปแค่ไหนก็ไม่มีทางที่สตาร์ตอัพรายเดียวจะผงาดขึ้น “ผูกขาด”

แถมการที่อยู่ ๆ มีเงินทุนล้นทะลัก สตาร์ตอัพหลายรายจึงตั้งหลักไม่ทัน กลายเป็นโตแต่ตัวแต่ด้อยประสบการณ์

การลงทุนสไตล์ “จ่ายหนัก จ่ายเร็ว” จึงเหมือนการทุ่มพนัน โดยไม่ศึกษาก่อนว่า “ม้าแข่ง” ตัวนั้น “แข็งแรง” และวิ่งได้ “เร็ว” จริงหรือไม่

ทั้งการที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง กำไรน้อย เมื่อเจอการเร่งขยายกิจการแบบไม่ลืมหูลืมตาเพื่อแลกกับการปั่น “ค่าตัว” ให้สูงเกินจริง ยิ่งทำให้ขาดทุนสะสม เหมือนกรณี WeWork ที่โดยธรรมชาติเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อยเติบโตช้า แต่พอได้เงินอัดฉีดก็รีบขยายไปทั่วโลก แถมแตกไลน์ทำธุรกิจที่ไม่ถนัดจึงเป็นอย่างที่เห็น

กลายเป็น “บทเรียน” เตือนใจนักลงทุนให้กลับไปสู่กฎพื้นฐานอีกครั้งว่าก่อนลงทุนต้องศึกษาธุรกิจให้ละเอียด ตรวจสอบโมเดลธุรกิจว่าใช้ได้จริง ป้องกันความเสี่ยงด้วยการทยอยลงทุนไม่ผลีผลาม และคอยกำกับให้สตาร์ตอัพทำธุรกิจหลักให้เข้มแข็งก่อนแตกไลน์ไปทำสิ่งอื่น

ที่สำคัญ ต้องเน้นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส จะได้ไม่ต้อง “เซอร์ไพรส์” กับการหมกเม็ดตัวเลขและพฤติกรรมสุดฉาวของผู้บริหารอย่างกรณี Uber ที่โดนทั้งเรื่องเหยียดเพศในองค์กร วัฒนธรรมองค์กรแบบชายเป็นใหญ่ เอาเปรียบค่าแรงคนขับ หรือ WeWork ที่ผู้ก่อตั้งเอาเงินไปซื้อเครื่องบินส่วนตัว และขยายธุรกิจโดยไม่พร้อม เป็นต้น