
อีกหนึ่งพื้นที่ของงาน “Digital Thailand Bigbang 2019” ได้เปิดให้แบรนด์แถวหน้าในธุรกิจการเงินได้แชร์มุมมองผ่านเวทีเสวนา “สังคมไร้เงินสดในไทย ใกล้เป็นจริงหรือแค่ความหวัง”
โดย “วรฉัตร ลักขณาโรจน์” กรรมการผู้จัดการ GrabPay ประเทศไทย เปิดประเดิมมุมมองว่าการชำระเงินด้วย “เหรียญ-ธนบัตร” สร้างต้นทุนให้ประเทศ คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านบาท/ปี ฉะนั้น “สังคมไร้เงินสด” จะช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ได้ ซึ่งได้เห็นแนวโน้มการใช้เงินสดน้อยลงเรื่อย ๆ ในเมืองใหญ่
แต่ในบางประเทศกว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี ประเทศไทยจึงต้องรอเวลา เพื่อเป้าหมาย “เลิกใช้เงินสด” ที่เป็นความท้าทายใหญ่
“ตอนนี้โครงสร้างพื้นฐานยังโตไม่ทัน เกือบทุกเดือนระบบธนาคารมีความตะกุกตะกัก ทำให้คนที่อยากลองใช้เขาเบื่อ ในมุมผู้ประกอบการมองว่าระบบไม่ต้องสร้างเยอะ แต่ต้องเสถียร เปิดมาต้องใช้งานได้ เพื่อให้คนใช้แพร่หลาย ทำอย่างไรให้คนเห็นว่ามีแต่ข้อดีไม่ต้องกังวล สาระสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้ผู้บริโภค”
แคชเลสไม่ใช่แค่ลดต้นทุน
“วิศิษฎ์ ยินดีสิริวงศ์” ผู้จัดการโอมิเซะ (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ กล่าวว่า การก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมีประโยชน์ทั้งในแง่ต้นทุน การรักษาความปลอดภัย ทั้งยังสามารถเก็บดาต้าเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไป และนำไปใช้วิเคราะห์ต่อได้
“แคชเลสช่วยให้ประเทศพัฒนาและรุดหน้าต่อไปเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ แต่ หัวใจสำคัญคือ แก้ปัญหาอะไร ซึ่งเคสตัวอย่างของแต่ละประเทศก็ต่างกัน อาทิ ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกามีปัญหาแบงก์ปลอม ดังนั้น การโอนให้กันมีความน่าเชื่อถือมากกว่า อย่างร้านค้าออนไลน์ไทยส่วนใหญ่รับชำระปลายทาง แต่ตอนนี้หลายร้านพยายามหาช่องทางการรับพร้อมเพย์ บัตรเครดิตมากขึ้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขาย จึงไม่ใช่แค่ประโยชน์ในมุมผู้บริโภค”
อีก 5 ปี คนไทยใช้ 60%
“วรรณา นพอาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการรับส่งข้อมูลธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า การที่ไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสด น่าจะเป็นการตั้งความหวังมากเกินไป เพราะแม้แต่สวีเดนที่ประกาศเป็นประเทศสังคมไร้เงินสด แต่ 15% ก็ยังใช้เงินสดอยู่
“ปัจจุบันการใช้จ่ายผ่านอีเพย์เมนต์ไทยคิดเป็น 24% เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากเพียง 2% เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าตั้งเป้าสัดส่วนสัก 60% เชื่อว่าอีก 5 ปีเป็นไปได้”
แต่ความไม่ไว้ใจระบบ คืออุปสรรคหลัก เช่น พร้อมเพย์ ที่แรก ๆ ไม่มีคนกล้าใช้เพราะต้องผูกข้อมูลเลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ จะผ่านไปได้คือต้องฟังทุกความเห็นเพื่อปิดช่องว่างทั้งหมด
นอกจากนี้ ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนต้องช่วยกัน เช่น สรรพากรคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์เท่านั้น หรือโครงการชิม ช้อป ใช้ ทำให้คนรู้จักการใช้งานวอลเลตถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ใช้งานทั้งทั่วไปและห้างร้าน
“แต่ข่าวว่าจะตรวจสอบทรานแซ็กชั่นเพื่อเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ทำให้ยอดใช้อีเพย์เมนต์กระตุกทันที”
ฉะนั้นเป้าหมายสำคัญตอนนี้คือ “ต่อสู้กับเงินสด” ซึ่งยังมีการใช้งานถึง 76% แต่สุดท้ายแล้ว “ผู้บริโภค” คือ ผู้ชนะ จากการมีตัวเลือกในการใช้บริการที่หลากหลาย
ต่อยอดทรานแซ็กชั่น
“อภินันท์ ดาบเพ็ชร” ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจ Wallet จาก TrueMoney Wallet เปิดเผยว่า ทรูเปิดบริการมาได้ 6 ปี งานที่ไม่เปลี่ยนคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาใช้สร้างทรานแซ็กชั่นได้ และต่อยอดในอนาคต อย่างจากฐานลูกค้าก็มีการ เสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจเฉพาะคน ขั้นต่อไปคือ เสนอบริการทางการเงิน เช่น เงินกู้ ประกันในรูปแบบไมโครเครดิตเพย์ ปล่อยกู้ SMEs วงเงิน 5,000-20,000 บาท